ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพสังคมปัจจุบัน ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทย มีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากขึ้น ทั้งยาเสพติด ติดเหล้า ติดเกมส์ และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือกันดูแล ป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าใกล้กับปัญหาเหล่านี้
ผู้ใหญ่ พ่เอแม่ ผู้ปกครอง จึงไม่ควรนิ่งดูดาย หรือ ปล่อยให้เด็ก และเยาวชน ยุคนี้ ต้องผจญอยู่กับปัญหาอย่างโดดเดี่ยว เพราะ นั่นหมายถึงว่า อนาคตของเด็กและเยาวชน มีโอกาสที่จะพลาดพลั้ง เกิดความเสียหายแก่การดำรง ชีวิตได้โดยง่าย
ต้องขอขอบคุณ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ และนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ที่ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดโครงการ “ศึกษาสาธารณสุขร่วมใจ เทิดไท้องค์ราชัน ลดโรค เพิ่มสุขวัยรุ่นไทย” เพื่อดูแลวัยรุ่นให้ครอบคลุมทั้งมิติทางกาย จิต สังคม และปัญญา โดยใช้กลยุทธ์ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันปัญหา จัดระบบการดูแลช่วยนักเรียน สอนทักษะชีวิตและเพศศึกษาให้สามารถประเมินความเสี่ยง และหากมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถเข้าถึงบริการที่เป็นมิตรได้
นายวิทยา บูรณศิริ ให้ความเห็นในแนวทางของ กระทรวงสาธารณสุข ว่า วัยรุ่นเดี๋ยวนี้เป็นหนุ่มสาวเร็วกว่าสมัยก่อน เริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในช่วงอายุน้อยลง เฉลี่ยอายุ 15 ปี และใช้ถุงยางอนามัยเฉลี่ย 50% โดยในปี 2554 พบวัยรุ่นหญิงอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรมากถึง 131,400 คน หรือประมาณชั่วโมงละ 15 คน คิดเป็น 17% ของจำนวนหญิงที่คลอดบุตรทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการคลอดบุตรในวัยรุ่นระดับโลกที่มี 11% ปัญหานี้จึงนำไปสู่ความไม่พร้อมในการเลี้ยงดูลูก ปัญหาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่มีงานทำ และการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมจึงทำให้วัยรุ่นตัดสินใจยุติตั้งครรภ์ด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัย ทำให้เกิดอันตรายและความเสี่ยงต่อชีวิต อีกทั้งยังพบว่าวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นด้วย
“กระทรวงสาธารณสุข จะบูรณาการทีนเซ็นเตอร์ (Teen Center) ให้เป็นคลินิกสำหรับวัยรุ่นโดยเฉพาะ จะเปิดให้บริการอย่างเป็นมิตร ให้คำปรึกษา ตรวจรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้จะเปิดให้บริการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าว่าในปี 2559 จะต้องครอบคลุมโรงพยาบาลชุมชน 1,000 แห่ง หรือ 1 โรงพยาบาล 1 คลินิกวัยรุ่น ซึ่งจะทำให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการ และลดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หรือลดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นได้” คุณ วิทยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวย้ำให้เกิดความสบายใจ
ด้าน นายสุชาติ ในฐานะเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ ก็กล่าวถึงความรับผิดชอบทางด้านการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ศธ.จะตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือนักเรียน 226 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในนักเรียน และดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเข้มแข็ง มีการเชื่อมเครือข่ายทั้งในและนอกสถานศึกษา นอกจากนี้ยังมีการพัฒนากิจกรรมเพื่อนที่ปรึกษา เพื่อให้นักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วสามารถให้คำปรึกษาช่วยเหลือเพื่อนนักเรียนที่ประสบปัญหาเบื้องต้นได้
ขณะที่ นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ ศธ. ได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนขึ้น โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ที่จบทางด้านจิตวิทยาคลินิกมาประจำอยู่ที่โรงเรียน 1 คน เพื่อช่วยตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต และให้การดูแลบำบัดรักษาเบื้องต้นภายในโรงเรียนได้ โดยปัจจุบันได้ทดลองนำร่องในโรงเรียน 24 แห่ง จาก 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา ร้อยเอ็ด สระแก้ว นครศรีธรรมราช สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ
“โรงเรียนมักจะเร่งแต่เรื่องวิชาการให้แก่เด็ก ทั้งที่ความจริงแล้วถ้าเด็กมีวิชาการแน่นเกินไป แต่ไม่มีวิชาชีวิตที่แน่นพอ ก็จะทำให้เด็กมีความก้าวหน้า แต่ไม่มีความสุข ดังนั้นเราต้องเร่งให้เด็กมีการเสริมสร้างพัฒนาทักษะชีวิตควบคู่ไปกับการเรียน โดยให้เด็กได้รัก และเห็นคุณค่าของตนเองรวมทั้งผู้อื่น นอกจากนี้จะต้องให้เด็กคิดวิเคราะห์ตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันต้องจัดการอารมณ์ และความเครียดของตัวเองได้ รวมถึงมีสัมพันธภาพที่ดีต่อผู้อื่น ซึ่งเหล่านี้จะเป็นภูมิให้กับตัวเด็กที่จะอยู่ได้ ไม่ว่าจะในสังคมที่มีความเครียดมากขนาดไหน หรือว่ามีการแข่งขัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม”
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า จากการสอบถามไปยังนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน พบว่าเด็กมักจะมาปรึกษาเรื่องการเรียน และความรัก ซึ่งน่ายินดีที่เด็กวัยรุ่นไทยยุคนี้มีความกล้าที่จะมาพูดคุยและปรึกษามากขึ้น ดังนั้นถ้าทุกฝ่ายร่วมกันในการช่วยดูแลสอดส่องพฤติกรรมของเด็ก ลดเวลาเสี่ยง หากิจกรรมให้เด็กได้ทำเยอะๆ ลดพื้นที่เสี่ยงลง ก็มั่นใจว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่คิดว่าน่าจะเป็นสถานการณ์เสี่ยงสำหรับเด็กก็จะลดลง
จุดเริ่มต้นของความร่วมมือในครั้งนี้ คงจะเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี แต่เหนือสิ่งอื่นใดเกราะป้องกันที่แข็งแรงที่สุดคงหนีไม่พ้นการเอาใจใส่ดูแลจากครอบครัว เพราะสังคมครอบครัวถือเป็นบ่อเกิดของความรัก ความผูกพัน ระหว่างประชาคมในครอบครัว อันประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก และ ญาติ พี่น้องอื่นๆ ซึ่งเป็น แหล่งสร้างความสุขที่มั่นคง แข็งแรงที่สุด โดยเฉพาะ ผู้เป็นพ่อแม่ ที่จะช่วยทำให้ลูกๆ สามารถก้าวผ่านช่วงวัยแห่งความเสี่ยงนี้ไปได้อย่างสำคัญที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ปานมณี
สโนว์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI คลิปตัวอย่าง PG&P FEED PG&P
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น