น้ำมันรำข้าว PG&P

น้ำมันรำข้าว PG&P
น้ำมันรำข้าว จมูกข้าว oryzanol

โบทานีก้า PG&P

โบทานีก้า PG&P
โบทานีก้า สูตรข้าวเหนืยวก่ำงอก

เอช พลัส H Plus PG&P

เอช พลัส H Plus PG&P
เอช พลัส กรดอะมิโนธรรมชาติ

ไฟรโตโปร Phyto-Pro

ไฟรโตโปร Phyto-Pro
ไฟรโตโปร คืนความแข็งแรงและความมั่นใจให้กับคุณสุภาพบุรุษ

โรคสมองอักเสบเฉียบพลันและไวรัสเอนเทอโร

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โรคสมองอักเสบเฉียบพลันและไวรัสเอนเทอโร



การวินิจฉัยภาวะ "สมองอักเสบเฉียบพลัน" เพื่อให้ได้ถึงสาเหตุและอุบัติการณ์ที่แท้จริง จำต้องทราบ ลักษณะเฉพาะตัวดังต่อไปนี้

1. เป็นภาวะที่เกิดมีกระบวนการอักเสบขึ้นในเนื้อสมอง ส่งผลให้มีการทำงานของสมองผิดปกติไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ระบบประสาทในระดับใดก็ได้ กล่าวคือ สมอง และหรือไขสันหลัง รวมทั้งเส้นประสาทที่ออกจากไขสันหลัง

2. โรคดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ในเวลาเป็นชั่วโมง วัน จนถึง 2 สัปดาห์

3. การอักเสบนั้นเกิดขึ้นได้จากทั้งการติดเชื้อ (ไวรัส แบคทีเรีย วัณโรค รา พยาธิ) และไม่ติดเชื้อ เช่น จากภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวน (post infectious encephalitis หรือ acute disseminated encephalomyelitis) จากโรคแพ้ภูมิตนเอง จากยา หรือจากเนื้องอกบางชนิดที่ทำให้น้ำเหลืองเสีย (paraneoplastic syndrome)

4. เชื้อชนิดเดียวกันอาจทำให้มีอาการต่างๆ กันได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือไขสันหลัง และ/หรือสมองอักเสบ โดยอาจแสดงอาการแรกเริ่มที่ระดับไขสันหลังก่อน เช่น ขาอ่อนแรง 2 ข้าง ปัสสาวะไม่ออก หรืออาจมีอาการทางสมองก่อนแล้วตามด้วยอาการทางไขสันหลังก็ได้

5. ความผิดปกติในสมองเป็นได้ทั้งซึมจนไม่รู้สึกตัว หรือมีพฤติกรรมแปรปรวน เอะอะอาละวาด ก่อนที่จะซึม (แต่อาจไม่ตามด้วยซึมก็ได้) นอกจากนี้ ยังอาจพบร่วมกับอาการชัก หรือมีแขน ขาอ่อนแรงครึ่งซีกซ้าย หรือขวา ในบางกรณีถ้ามีอาการรุนแรง รุกล้ำ เข้าไปในเนื้อสมองหรือมีอาการแทรกซ้อน เช่น โพรงน้ำในสมองโตระบายน้ำออกไม่ได้ (hydrocephalus) ก็จะทำให้มี อาการซึมไม่รู้ตัวได้เช่นกัน

6. ควรต้องวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยซึมด้วย เนื่องจากอาการซึมอาจไม่ได้เกิดจากการอักเสบที่สมองอย่างเดียว อาจเกิดจากภาวะความดันโลหิต หรือหัวใจผิดปกติ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อหรือเกิดจากเกลือแร่ผิดปกติรุนแรง (เช่น เกลือโซเดียมต่ำ) นิยามของสมองอักเสบเฉียบพลันสมองอักเสบเป็นภาวะ อันประกอบด้วย

-ไข้ ปวดหัวร่วมกับลักษณะซึ่งบ่งบอกถึงความผิดปกติของเนื้อสมองและระบบประสาทอื่นๆ โดยมีอาการสำคัญได้ 4 แบบ

- ความแปรปรวนในด้านการรับรู้ อาจมีความจำเปลี่ยนแปลง หลงลืมง่าย พฤติกรรมผิดปกติ เห็นภาพหลอน จนถึงอาจมีอาการทางจิตได้ และ/หรือ

- มีความเปลี่ยนแปลงทางระดับความรู้สึกตัว ทั้งในทางลดลง (ซึม ไม่รู้ตัว) หรือเพิ่มขึ้น (เพ้อเจ้อ กระวนกระวาย) และ/หรือ

- มีความผิดปกติในหน้าที่การทำงานของเนื้อสมอง และ/หรือไขสันหลัง-เส้นประสาท เป็นส่วนๆ และ/หรือ

- ชัก อาจเกิดขึ้นเป็นเฉพาะที่ เช่น กระตุกของแขน ขา หรือทั้งตัวแบบลมบ้าหมู ก็ได้ไข้อาจไม่มีหรือปรากฏในระยะต่อมาเท่านั้น (เช่นเดียวกับปวดศีรษะ) และอาจจะไม่มีไข้เลย หรืออยู่ในระดับอุณหภูมิต่ำกว่าปกติตัวเย็น โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะท้ายหรือไม่รู้ตัว นอกจากนี้ ควรต้องแยกสมองอักเสบจากภาวะที่สมองทำหน้าที่ผิดปกติจากสารพิษยาต่างๆ หรือมีภาวะตับวาย ไตวาย เป็นต้น  โรคสมองอักเสบที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ

1. สมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบอื่นๆ ของร่างกายก่อน แล้วจึงลุกลามทั่วร่างกายจนในที่สุดเข้าสมองด้วย

2. สมองเป็นเป้าหมายตรง ซึ่งในกรณีของไวรัส ส่วนใหญ่มักเกิดพยาธิสภาพที่เซลล์สมองเป็นสำคัญ แต่ไวรัสบางชนิดจะมีการติดเชื้อที่เส้นเลือดก่อน เช่น ไวรัสงูสวัด (varizella zoster virus)   ไวรัสบางชนิดอาจมีเป้าหมายมากกว่าหนึ่ง เช่น นิปาห์ (Nipah virus) ไปที่สมองและปอด ไวรัสเอนเทอโร เช่น เอนเทอโร 71 (enterovirus 71) เข้าสมอง ปอด และหัวใจ ทำให้เกิดการอักเสบ แต่มีความสามารถพิเศษที่เข้าก้านสมองอย่างเดียวก็ได้ และทำลายตัวประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมปอด และหัวใจ จนน้ำท่วมปอด หัวใจวาย

3. สมองอักเสบที่เป็นผลมาจากกลไกในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น สมองอักเสบตามหลังการติดเชื้อ (post infectious encephalitis) โดยเกิดจากทำลายเนื้อเยื่อส่วนสีขาว (white matter หรือ myelin) (immune mediated demyelination) กรณีที่เกิดจากน้ำเหลืองเสียอื่นๆ มีการทำลายที่เซลล์ประสาทโดยตรงได้ (autoantibody-associated encephalitis)

ภาวะทั้ง 3 อย่างนี้แยกจากกันได้ยาก

เนื่องจากอาจให้ลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ต้องอาศัยลักษณะอาการ การดำเนินโรค และหลักฐานของการติดเชื้อว่าเริ่มจากระบบอื่นๆ ก่อนหรือไม่ รวมทั้งภาพรังสีวินิจฉัย จึงจะทำให้สามารถคาดเดาพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นได้ และต้องการผลการตรวจทาง ห้องปฏิบัติการบางอย่างมาช่วยในการวินิจฉัยด้วย

สำหรับไวรัสเอนเทอโร ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  พบว่า ไวรัสเอนเทอโรเป็นต้นเหตุของสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กอายุน้อยกว่า 14 ปี 34 ราย และผู้ใหญ่ 4 ราย จากจำนวนทั้งหมด 930 ราย ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในผู้ใหญ่พบว่าอาการไม่มากเป็นเพียงเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และหายเองภายในเวลา 2-3 วัน ทั้งนี้ พบว่าทารกแรกคลอดเมื่อกลับบ้านก็มีโอกาสติดเชื้อได้ทันที และมีจำนวน 36% ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน ที่มีการติดเชื้อรุนแรงและสมองอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อเอนเทอโร การที่ผู้ใหญ่พบการติดเชื้อน้อย น่าจะอธิบายจากการที่ได้สัมผัสเชื้อ ต่อเนื่องเป็นเวลานานจนมีภูมิต้านทาน ดังนั้น ถ้ามีการติดเชื้อและมีอาการรุนแรงในวงกว้างของเชื้อเอนเทอโรในผู้ใหญ่ จำเป็นต้องมีการหาสาเหตุอย่างละเอียด  อนึ่ง สายพันธุ์ต่างๆ ของเชื้อเอนเทอโร 71 ในประเทศไทย ก็มีเกือบครบถ้วนไม่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านนัก  โดยมีทั้ง C1 C2 และ C4 รวมทั้ง B5  แต่ก็ไม่มีโรครุนแรงดังเช่นประเทศต่างๆ เป็นเครื่องแสดงว่า ชนิดของสายพันธุ์ มิได้เป็นตัวกำหนดความรุนแรงเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นกับปัจจัยในคนอีกด้วย

ข้อควรปฏิบัติในการป้องกันตนเอง อยู่ที่การรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ ไอจามปิดปาก ผู้ใดมีอาการเจ็บป่วยต้องแยกตัวไม่แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น การทำความสะอาดกำจัดเชื้อก่อโรคมือเท้าปาก ถึงแม้เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ 70% จะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้มากมายหลายชนิด แต่ไม่ได้ผลในการฆ่าเชื้อเอนเทอโรไวรัส รวมถึงเชื้อก่อโรคมือเท้าปาก ที่กำลังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขวันนี้ ดังนั้น แม้สะดวก แต่ไม่ได้ผลในการกำจัดเชื้อ ดังนั้น วิธีทำความสะอาดที่เหมาะสม คือ การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เพื่อชะล้างเชื้อจากผิวหนัง เช่นเดียวกันกับสำหรับการทำความสะอาดพื้นผิว โต๊ะเก้าอี้ อุปกรณ์อื่นๆ และพื้น

ส่วนการฆ่าเชื้อที่พื้นและอุปกรณ์จะต้องใช้ Sodium hypochlorite 0.5% เช่น ไฮเตอร์ Clorox ในกรณีที่เป็นผง ให้ใช้ขนาด 5 กรัม กับน้ำ 950 ซีซี เก็บไว้ใช้ได้นาน 7 วัน ยกเว้นถ้าเปลี่ยนสี แสดงว่าหมดอายุต้องทิ้ง เตรียมใหม่ น้ำยานี้ใช้ทำความสะอาดพื้นผิว สิ่งของ เครื่องใช้ ชุบน้ำยาชุ่มเช็ดบนพื้นผิวที่ต้องการ หรือราดที่พื้น ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วจึงล้างหรือเช็ดออก การนำอุปกรณ์ ที่ทำความสะอาดแล้ว ตากแดดให้แห้ง จะช่วยเสริมการกำจัดเชื้อ ได้ดีขึ้น

ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้ออื่นที่ ใช้ไม่ได้ คือ แอลกอฮอล์ 70% ไลซอล อีเทอร์ คลอโรฟอร์ม ไอโซโปรพานอล (isopropyl alcohol) ความร้อนต่ำกว่า 50 องศาเซลเซียส ดังนั้น สำหรับอาหารควรอุ่นให้เดือดหรือร้อนจัดอย่างน้อย 10 นาที









ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 




PG&P
สโนว์  ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี  pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI คลิปตัวอย่าง PG&P FEED PG&P

คุมเข้ม‘4 โรคระบาด’ที่มากับนักเดินทาง! สธ.ชี้คนไทยไม่มีภูมิ-ติดโรคร้ายได้ทุกคน

คุมเข้ม‘4โรคระบาด’ที่มากับนักเดินทาง! สธ.ชี้คนไทยไม่มีภูมิ-ติดโรคร้ายได้ทุกคน

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยันโรคมือ-เท้า-ปาก เอาอยู่! ขณะที่ สธ.เตรียมรับมือการระบาดของ โรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ คืนชีพและกลายพันธุ์ ทั้ง “หวัด 2009-วัณโรค-ฉี่หนู” และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ระบาดรุนแรง ต้นเหตุจากวัยรุ่นยุคใหม่นิยมมีเซ็กซ์แบบสวิงกิ้ง ด้าน ผอ.สำนักระบาดวิทยา ระบุอีก 4 โรคระบาดที่มากับนักเดินทาง และแรงงานไทย หวั่นคนไทยไม่มีภูมิต้านทาน สามารถติดโรคนี้ได้ทุกคน!
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ไม่อยากให้คนไทยมัวตื่นตระหนกกับโรค มือ-เท้า-ปาก เพียงอย่างเดียว จนลืมที่จะระวังดูแลรักษาตัวให้ห่างจากโรคอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น และแพร่กระจายหรือมีการระบาดอย่างรวดเร็วได้ไม่ต่างจากโรค มือ-เท้า-ปาก ทั้งโรคอุบัติซ้ำ โรคอุบัติใหม่ โรคประจำถิ่น และอีก 4 โรคระบาดที่มากับนักเดินทางที่เข้ามายังประเทศไทยทุกรูปแบบ หรือคนงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ฯลฯ ก็สามารถเป็นผู้แพร่เชื้อได้ง่ายที่สำคัญก็อาจทำให้ผู้รับเชื้อถึงแก่ชีวิต ได้เช่นกัน!
 ‘มือ-เท้า-ปาก’ สธ.เอาอยู่
ตัวเลขการแพร่ระบาดโรคมือ-เท้า-ปาก สู่เด็กเล็กที่ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ วันที่ 25 ก.ค. 2555 สำนักระบาดวิทยารายงานว่ามีผู้ป่วยโรคมือ-เท้า-ปาก นับตั้งแต่ต้นปีสูงถึง 17,656 ราย จาก 77 จังหวัด เทียบกับปีที่แล้วซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 18,000 กว่าราย อธิบดีกรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าปีนี้ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยจะพุ่งสูงมากกว่าปี ที่แล้วแน่นอน เพราะโรคนี้จะยังมีการระบาดต่อไปอีกประมาณ 6-8 สัปดาห์ ล่าสุดเพิ่งมีเด็ก 2 ขวบเสียชีวิตจากโรคนี้
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมั่นใจว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตมากนัก เพราะข่าวสารของโรคมือ-เท้า-ปาก กระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวที่จะรีบพาลูกหลานไปพบแพทย์เมื่อมีไข้สูงนานกว่า 48 ชั่วโมง ทำให้สถิติจำนวนผู้ป่วยนอกดูเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ป่วยในและผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ
 “โรคมือ-เท้า-ปาก ในไทยปีนี้ถือว่ามีการระบาดมาก แต่อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รุนแรงกว่าปกติ โรคนี้ เกิดจากเชื้อไวรัสในลำไส้ หรือเอนเทอโรไวรัสหลายสายพันธุ์ย่อย ซึ่งสายพันธุ์ที่พบบ่อยในไทยเป็นเชื้อคอกซากี เอ (Coxsackievirus A16) ซึ่งไม่รุนแรง”
โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตั้งหน่วยเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างใกล้ชิด โดยมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance Rapid Response Team : SRRT) ที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงกว่า 1,000 ทีมทั่วประเทศ เพื่อเข้าถึงพื้นที่อย่างรวดเร็ว และในจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่า 10 รายต่อวันให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด (War Room) เพื่อป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่
ขณะเดียวกันก็มีการคุมเข้ม 2 มาตรการ คือ 1. ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด โดยประสานกับโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา และศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่ ให้เน้นเรื่องการทำความสะอาดป้องกันการแพร่เชื้อ หากมีเด็กป่วยต้องให้หยุดเรียน และให้เด็กหมั่นล้างมือ กินอาหารร้อนและสุกใหม่ 2. ดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยเน้นย้ำผู้ปกครองทุกคน หากพบเด็กมีไข้สูง 2 วัน ซึมลง และอาเจียน ให้รีบพบแพทย์ทันที และกำชับแพทย์ให้ระมัดระวังภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคมากขึ้น รวมไปถึงผู้ป่วยที่ไม่มีตุ่มขึ้นที่ปาก หรือฝ่ามือ ฝ่าเท้าด้วย
 “โรคนี้จะเกิดกับคนที่มีภูมิคุ้มกันตัวเองน้อย เด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบสะอาดมากเกินไปจะเป็นโรคนี้ได้ง่ายกว่าเด็กที่มี ภูมิคุ้มกัน ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ยิ่งต้องมีภูมิคุ้มกัน เพราะโรคนี้ผู้ใหญ่ก็เป็นได้ แต่จะแสดงอาการเป็นตุ่มเหมือนร้อนใน และหายได้ไม่ยาก”
ดังนั้น สธ.จึงเน้นย้ำในเรื่องการรักษาความสะอาดในทุกๆ สถานที่ และต้องดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง เนื่องเพราะช่วงฤดูฝน ตามด้วยฤดูหนาว มักจะมีโรคระบาดอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาได้อีก
หวัด 2009 กลายพันธุ์ทุกปี
อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคอุบัติใหม่ หรือโรคระบาดที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น ที่น่าเป็นห่วงที่สุด ยังคงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ที่ถือว่าเป็นโรคที่เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากกล่าวตามภาษาแพทย์เรียกว่าเป็นเชื้อโรคที่ไม่มีเปลือกหุ้ม กล่าวคือ เมื่อเชื้อเหล่านี้เข้าร่างกายแล้ว จะไปเจอเม็ดเลือดขาวขนาดเล็กเรียกว่า CD4 เพื่อเข้าไปเอานิวเคลียสของดีเอ็นเอมาสร้างไวรัส หรือแบ่งตัวออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นเชื้อที่มีการเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนตัวเดิม
 “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นโรคที่ต้องสู้กับมันตลอดเวลา เพราะอุบัติใหม่ทุกปี ต้องสู้กับมัน โดยองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้พยากรณ์ว่าในปีหน้า เชื้อจะเป็นอย่างไร แล้วจะเริ่มมีการผลิตวัคซีนรักษา”
 “โรคเพศสัมพันธ์-วัณโรค”อุบัติซ้ำรุนแรง
ส่วนโรคอุบัติซ้ำนั้น ก็ยังคงพบว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประทศไทย ส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคโกโนเรีย ซิฟิลิส และโรคเอดส์
 “พฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่น คือไม่ใช้ถุงยางอนามัย มีการเปลี่ยนคู่นอน และมีพฤติกรรมทางเพศแบบหมู่คณะ (สวิงกิ้ง) ตรงนี้ทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เคยเบาบางไปแล้ว กลับมาระบาดหนักอีก”
ส่วนโรคอุบัติซ้ำที่ยังคงมีการเสียชีวิตอยู่ตลอดเวลานั้น อีกโรคหนึ่งคือ “วัณโรค” ปัจจุบันเชื่อว่าคนไทยเป็นโรคนี้กันจำนวนมาก มีทั้งแสดงอาการ และไม่แสดงอาการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญโดยพยายามหาคนที่เป็นโรคนี้ให้เจอและรีบ รักษา
โดยสัดส่วนการรักษาอยู่ในระดับที่เป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกคือ หาเจอและรักษาได้ร้อยละ 70 ของคนที่เป็นโรคนี้ทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องมีการให้กินยาครบอย่างน้อยร้อยละ 90 เพราะหากกินยาน้อยกว่านี้จะทำให้เชื้อโรคดื้อยา ดังนั้นคนที่พบว่าเป็นวัณโรคแล้วจะต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอถึงจะ รักษาโรคของตัวเองให้หายขาดได้
ทิ้งอาหารเรี่ยราด-ระวังโรคฉี่หนู
ด้านโรคประจำถิ่น โรคที่น่าเป็นห่วงที่สุดในกลุ่มนี้คือ โรคฉี่หนู (Leptospirosis) ที่ยอมรับว่ารู้จักโรคนี้มานาน แต่ยังไม่สามารถเอาชนะโรคนี้ได้ เพราะการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านหนูนั้นควบคุมได้ยาก ทำให้ปีที่แล้ว (2554) มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากถึง 70 คน ขณะที่ปี 2555 นี้ แค่ 6 เดือนมีคนตายไปแล้ว 21 ราย
สำหรับวิธีดูว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ ให้สังเกตง่ายๆ ว่า “ไข้สูง ปวดหัว ปวดน่อง” ให้รีบไปหาหมอ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสกับที่ชื้นตลอดเวลา แต่ถ้าสถานที่ไหนเป็นที่แห้ง เชื้อจะตายได้ง่ายกว่า
 “โรคนี้ตอนน้ำท่วมเป็นห่วงมาก ก็ต้องรีบให้ความรู้ เพราะว่าตอนน้ำท่วมโรคนี้ไม่น่ากลัว แต่จะรุนแรงตอนน้ำแห้ง ต้องรีบทำความสะอาดอย่าให้มีเศษอาหารทิ้งเรี่ยราด เพราะเป็นแหล่งอาหารของหนู และระหว่างทางที่หนูเดินก็จะมีการฉี่เรี่ยราด ทิ้งเชื้อโรคมาตลอดทาง”
ทั้งนี้ บุคคลที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนูอีก คือคนในออฟฟิศที่มีหนูอาศัยอยู่ และมีหนูมาฉี่และอึทิ้งไว้ตามโต๊ะ จะต้องหมั่นทำความสะอาด เพราะเป็นแหล่งเชื้อโรค ทำให้เป็นโรคฉี่หนูได้เช่นเดียวกัน
จับตา 4 โรคระบาดมากับนักเดินทาง
ด้านสำนักระบาดวิทยา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โรคอุบัติใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังติดตามและเฝ้าระวังอย่างหนักคือ โรคอุบัติใหม่ที่นักเดินทาง หรือผู้ที่ไปทำงานต่างประเทศจะนำติดตัวกลับมาแพร่กระจายได้ด้วย
นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุ 4 โรคอุบัติใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังการนำเชื้อโรคเข้ามาของนักเดินทางหรือคนงาน ที่ไปทำงานในต่างประเทศ ได้แก่ โรคไข้เหลือง โรคกาฬโรค โรคโปลิโอ และโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ซึ่งถือเป็น 4 โรคร้ายแรงที่ต้องจับตา เพราะเป็นโรคที่ติดเข้ามาได้ง่าย และคนไทยยังไม่มีภูมิต้านทาน
 “ไข้เหลือง จะเป็นโรคที่ติดมาจากแถบประเทศแอฟริกา, กาฬโรคจะติดมาจากแอฟริกา และบางส่วนของเอเชียกลาง เช่น บางพื้นที่ของจีน อินเดีย, โปลิโอ ซึ่งหายจากเมืองไทยไปเป็น 10 ปี ก็สามารถติดได้จากแอฟริกา ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน สำหรับไวรัสนิปป้า ที่จะมีอาการเหมือนสมองอักเสบ ก็จะมีมากทางบังกลาเทศ ซึ่งเชื้อนี้เคยเกิดขึ้นในภาคใต้ของไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วย”
อาการบ่งชี้ 4 โรคที่มากับนักเดินทาง
1. โรคไข้เหลือง (Yellow fever) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ ในพื้นที่เขตร้อนแถบแอฟริกาและอเมริกาที่มีไข้เหลืองเป็นโรคประจำถิ่น เคยมีการระบาดเกิดขึ้นในยุโรป หมู่เกาะแคริบเบียน อเมริกาเหนือ และอเมริกากลาง ยังไม่เคยมีรายงานพบโรคนี้ในประเทศไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากยุงและลิง
ส่วนอาการที่ปรากฏ จากการเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลัน จึงมีระยะเวลาป่วยสั้นและมีความรุนแรงของโรคที่หลากหลาย อาการของโรคคือ จะมีไข้ทันทีทันใด หนาวสั่น ปวดศีรษะ อาเจียน ชีพจรอาจเต้นช้าลงและเบาตามสัดส่วนอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ปรากฏในช่วงต้นของอาการ และเกิดขึ้นในวันที่ 5 อาการดีซ่านและไข้เลือดออก รวมทั้งเลือดกำเดาไหล มีเลือดออกจากเหงือก อาเจียนเป็นเลือดสดลักษณะเลือดเก่าคล้ายสีกาแฟ และถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหนียว และมีกลิ่นเหม็นคาว เอนไซม์ในตับเพิ่มขึ้น ความผิดปกติของปัจจัยการแข็งตัวของเลือดพบไข่ขาวในปัสสาวะ และปัสสาวะน้อย เป็นผลจากความล้มเหลวของตับและไต อัตราการตายโดยรวมเท่ากับร้อยละ 20-50 ระยะฟักตัวของโรค เพียง 3-6 วัน
สำหรับการแพร่ติดต่อโรคนั้น ติดต่อโดยการถูกยุงที่มีเชื้อกัด ยุงลายที่ดูดเลือดเข้าไปแล้วไวรัสจะใช้เวลาฟักตัว 9-12 วัน ในเขตอากาศร้อน และเมื่อติดเชื้อแล้ว เชื้อจะอยู่ในตัวยุงตลอดชีวิตของยุงนั้น โรคไม่ติดต่อโดยการสัมผัสหรือจับต้องสิ่งของ
การระบาดอาจเกิดขึ้นเมื่อนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อเข้าไปแพร่เชื้อใน ชุมชนที่มีประชากรอยู่หนาแน่น ยุงลายตามบ้านจะเป็นพาหะนำเชื้อจากคนสู่คน การระบาดรูปแบบนี้จะทำให้เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างได้
การป้องกันโรค : การฉีดวัคซีนเป็นมาตรการเดียวที่สำคัญที่สุดในการป้องกันไข้เหลือง ในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของวัคซีนต่ำจะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และมีการควบคุมโรคที่รวดเร็ว มาตรการกำจัดยุงยังจำเป็นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสจนกว่าจะมีการฉีด วัคซีนได้ครอบคลุม
2. โรคกาฬโรค (Plague)
ประเทศไทยปลอดจากโรคนี้ตั้งแต่ปี 2495 ในอดีตกาฬโรคเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ร้ายแรงที่ได้ทำลายชีวิตผู้คน ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก แต่จากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง และการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราป่วยและอัตราตายจากกาฬโรคลดลง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่กาฬโรคของคนในเขตเมืองเกือบทั่วโลกถูกควบคุมได้หมดแล้ว แต่การระบาดก็ยังเกิดขึ้นหลายประเทศในแอฟริกา ได้แก่ แองโกลา บอตสวานา เคนยา มาดากัสการ์ นามิเบีย แอฟริกาใต้ มาลาวี โมซัมบิก แทนซาเนีย ยูกันดา ซิมบับเว ซาอีร์ และลิเบีย
กาฬโรคยังเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศจีน อินโดนีเซีย มองโกเลีย พม่า อินเดีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีรายงานผู้ป่วยกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองปีละนับพันราย ทั้งจากในเมืองและชนบท ส่วนกาฬโรคปอดบวมมีรายงานประปรายระหว่างปี พ.ศ. 2505-2515 ในปี พ.ศ. 2537 มีการระบาดของกาฬโรคปอดบวมปฐมภูมิในเมืองสุรัต แคว้นกุจารัต ประเทศอินเดีย สำหรับทวีปอเมริกามีแหล่งรังโรคอยู่ที่บราซิล และเขตแอนดีน (เปรูและโบลิเวีย) ทำให้เกิดโรคประปราย และการระบาดเป็นครั้งคราว
โดยโรคนี้ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ฟันแทะและหมัด ซึ่งแพร่เชื้อแบคทีเรียไปยังสัตว์อื่นอีกหลายชนิดรวมทั้งคน อาการแสดงเริ่มแรกจะยังไม่จำเพาะ คือ มีไข้หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ไม่มีเรี่ยวแรง เจ็บคอ และปวดหัว
สำหรับระยะฟักตัวอยู่ระหว่าง 1-7 วัน หรืออาจจะนานกว่านั้นสัก 2-3 วัน ในคนที่มีภูมิต้านทานแล้ว แต่สำหรับกาฬโรคปอดบวมปกติจะสั้นมาก 2-4 วัน
ในการแพร่ติดต่อโรคนั้นถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม เชื้อกาฬโรคในหมัดจะติดต่อไปยังที่อื่นได้นานนับเดือน กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองไม่ติดต่อโดยตรงจากคนสู่คน นอกจากจะสัมผัสถูกกับหนองจากฝีมะม่วง กาฬโรคปอดบวมติดต่อได้ง่ายที่สุดถ้าอุณหภูมิอากาศเหมาะ ฝูงชนที่แน่นหนาแออัดจะช่วยให้การแพร่ระบาดเกิดได้ง่าย
วิธีการป้องกันโรคต้องลดความเสี่ยงต่อการถูกหมัดติดเชื้อกัด หลีกเลี่ยงการจับต้องสัมผัสกับเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งติดเชื้อ หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยกาฬโรคปอดบวม
อีกทั้งป้องกันหนูในบริเวณบ้านไม่ให้เข้าไปทำรังหรือหาอาหาร โดยจัดเก็บเสบียงอาหารและจัดการกองขยะมูลฝอยให้ถูกสุขลักษณะ
3 .โรคโปลิโอ (Poliomyelitis) เคยมีในประเทศไทยเมื่อ 10 ปีก่อน แต่หายไปเพราะมีการให้วัคซีนอย่างครอบคลุม อย่างไรก็ตาม โรคโปลิโอถือเป็นโรคที่ร้ายแรงเพราะเชื้อไวรัสโปลิโอจะทำให้มีการอักเสบของ ไขสันหลัง และมีการอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขา ในรายที่อาการรุนแรงจะทำให้มีความพิการตลอดชีวิต หรือเสียชีวิตได้ ปัจจุบันโรคโปลิโอเป็นโรคประจำถิ่นในแถบแอฟริกา ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน
โดยร้อยละ 5-10 ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการ โดยมีไข้และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เจ็บคอ บางรายปวดศีรษะมาก ปวดตามลำตัวและขา ร้อยละ1 ของผู้ติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรง โดยมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตามมา หรือมีการอัมพาตของกล้ามเนื้อแขน ขา ซึ่งทำให้เกิดความพิการ ในรายที่รุนแรงมากอาจมีการอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
ส่วนระยะฟักตัวของผู้ป่วยที่มีอาการอัมพาต อยู่ระหว่าง 1-2 สัปดาห์ แต่อาจนานถึง 5 สัปดาห์หรือสั้นเพียง 3-4 วันได้
ในการแพร่ติดต่อโรคนั้นเชื้อนี้จะอยู่ในลำไส้ของคนเท่านั้น ไม่มีแหล่งรังโรคอื่นๆ โดยเชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ในลำไส้ของคนที่ไม่มีภูมิต้านทานและอยู่ ภายในลำไส้ 1-2 เดือน การติดต่อที่สำคัญคือ เชื้อที่ถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระเข้าสู่อีกคนหนึ่งโดยผ่านเข้าทางปาก โดยเชื้อปนเปื้อนติดมือผ่านจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง และเข้าสู่ร่างกายเมื่อหยิบจับอาหารเข้าปาก ในพื้นที่ที่มีอนามัยส่วนบุคคลและการสุขาภิบาลไม่ได้มาตรฐานจะพบโรคโปลิโอ ได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
สำหรับการป้องกันโรคในเด็กทั่วไป การให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (OPV) นับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการให้วัคซีนป้องกัน 5 ครั้งเมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4 ปี และไปรับวัคซีนทุกครั้งที่มีการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ นอกจากนั้นจะป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโปลิโอได้ด้วยการ กินอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง
4. โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสนิปาห์ (Hendra and Nipah Viral Diseases) เป็นไวรัสที่ก่อโรคในสัตว์ ก่อโรคไข้สมองอักเสบเป็นหลัก ถูกค้นพบครั้งแรกในมาเลเซียช่วงปี 2541-2542 และพบในบังกลาเทศและอินเดียด้วย อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในไทย แต่เคยมีการศึกษาสำรวจค้างคาวในบางจังหวัดทางภาคใต้ของไทยพบว่า ค้างคาวแม่ไก่ร้อยละ 7 มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนิปาห์ และพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสนิปาห์ในน้ำลายและปัสสาวะของค้างคาวแม่ไก่ ด้วย ดังนั้น พื้นที่เสี่ยงทางภาคใต้จึงควรเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและป้องกันไม่ ให้โรคแพร่มายังสัตว์เลี้ยงตามมาตรการของกรมปศุสัตว์
อาการที่ปรากฏมีเพียงเล็กน้อยไปจนถึงมีอาการมาก โคม่า และ/หรือระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิต รวมทั้งมีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ วิงเวียน ซึม และสับสน หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และปอดอักเสบผิดปกติ ในผู้ป่วยไวรัสนิปาห์จะมีอาการอักเสบของสมองเป็นส่วนใหญ่ อาจทำให้วินิจฉัยว่าเป็นไข้สมองอักเสบ ส่วนหนึ่งจะมีอาการแสดงของปอด ผู้ป่วยทั้งหมดที่มีชีวิตรอดจากสมองอักเสบเฉียบพลันจะสามารถฟื้นตัวได้เป็น ปกติ แต่มีประมาณร้อยละ 20 ที่พบร่องรอยความบกพร่องของระบบประสาท อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 40 และพบว่าในคนที่มีการติดเชื้อไวรัสบางรายไม่แสดงอาการ
ส่วนระยะฟักตัวของโรค ประมาณ 4-18 วัน บางรายอาจใช้เวลาหลายเดือน และการแพร่ติดต่อโรค เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับหมู (ไวรัสนิปาห์) หรือผลิตภัณฑ์จากหมูที่ติดเชื้อ
ในการป้องกันโรคนั้นผู้ทำงานปศุสัตว์ควรสวมชุดป้องกัน รองเท้าบูต หมวก ถุงมือ แว่นตา กระจังบังหน้า ล้างตัวและมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนออกจากฟาร์ม, เผาทำลายซากม้าและหมูที่ติดเชื้อ โดยการควบคุมดูแลของหน่วยงานรัฐ, ห้ามขนย้ายสัตว์ออกจากบริเวณที่มีการระบาดของโรค, แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อหากปรากฏการแพร่เชื้อจากคนสู่คน
โดยทั้ง 4 โรคระบาดที่มากับนักเดินทางนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าระวังและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทยได้


ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ

PG&P
สโนว์  ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี  pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI คลิปตัวอย่าง PG&P FEED PG&P

ปภ.เตือนขับรถช่วงหยุดยาว

ปภ.เตือนขับรถกลับบ้านช่วงเทศกาลเข้าพรรษาระวังในการเดินทาง

ปภ.เตือนขับรถกลับบ้านช่วงเทศกาลเข้าพรรษาระวังในการเดินทาง

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าว ว่า ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษา ประชาชนจำนวนมากมักเดินทางไปทำบุญ ท่องเที่ยว หรือกลับภูมิลำเนา ทำให้ถนนหลายสายมีการจราจรที่หนาแน่น

ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าปกติ เพื่อความปลอดภัย จึงขอแนะวิธีป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากการเดินทางไกลช่วงวันหยุดยาว ดังนี้ ก่อนออกเดินทาง ผู้ขับขี่ควรตรวจสอบสภาพรถ ได้แก่ เครื่องยนต์ ยางรถยนต์ ระบบเบรก สัญญาณไฟ น้ำมันเบรก น้ำมันเครื่อง น้ำในหม้อน้ำ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน จัดเตรียมอุปกรณ์ประจำรถไว้สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาทก่อนออกเดินทาง ตลอดจนศึกษาสภาพเส้นทางก่อนออกเดินทาง เพื่อวางแผนเลือกใช้เส้นทางที่ปลอดภัย

ขณะเดินทาง ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เร็ว เมา ง่วง โทรไม่ขับ อย่างเด็ดขาด หากเดินทางระยะไกล ควรมีผู้ขับรถอย่างน้อย 2 คน สับเปลี่ยนกันขับรถ และหยุดพักเป็นระยะ เพื่อป้องกันความอ่อนเพลียจากการเดินทางไกล ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงการจอดรถซื้อของข้างทาง หรือบริเวณจุดเสี่ยงต่างๆ เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ หากจอดรถซื้อของข้างทาง ควรให้สัญญาณไฟล่วงหน้า และจอดรถให้ชิดริมไหล่ทางมากที่สุด โดยไม่กีดขวางเส้นทางจราจร รวมทั้ง เปิดใช้สัญญาณไฟฉุกเฉิน เพื่อเตือนให้ผู้ขับรถตามหลังมาเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ และเปลี่ยนช่องทางได้ทัน ตลอดจนห้ามขับแซงในช่องทางด้านซ้ายหรือริมไหล่ทาง เพราะหากมีรถจอดซื้อของหรือคนยืนโบกเรียกลูกค้าริมข้างทาง อาจทำให้หยุดรถไม่ทัน จนรถเสียหลักพุ่งชนร้านค้าหรือคนได้







ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

PG&P
สโนว์  ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี  pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI คลิปตัวอย่าง PG&P FEED PG&P

ชี้มือเท้าปากระบาดชะลอตัว 'ไข้เลือดออก' พุ่ง

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ขณะนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก เริ่มชะลอตัวลง จากเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วมีผู้ป่วยรายใหม่สูงถึงสัปดาห์ละ 2,000 ราย ส่วนสัปดาห์นี้ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 800 ราย ส่วนใหญ่พบที่กรุงเทพฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือค่อนข้างชะลอตัวอย่างชัดเจน ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์น่าจะเริ่มคลี่คลายภายใน 6 สัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม แม้การระบาดของโรคจะเริ่มชะลอตัวลงแล้ว แต่เราต้องไม่ประมาท โดยได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดควบคุม ตัดวงจรของเชื้อไวรัสก่อโรคมือ เท้า ปาก โดยการทำความสะอาดสถานที่ที่เด็กอยู่รวมกันเยอะ การตรวจคัดกรองผู้ป่วย รวมไปถึงการให้ความรู้กับผู้ปกครองในเรื่องการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว และดูแลอาหารด้วย พร้อมทั้งต้องรายงานมาตรการควบคุมสถานการณ์ให้กระทรวงทราบเป็นระยะ เช่น มีศูนย์เด็กเล็กจำนวนเท่าไร เข้าไปดูแลแล้วจำนวนเท่าไร
ส่วนการระบาดของไข้เลือดออกมากกว่าโรคมือ เท้า ปาก และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น นพ.ไพจิตร กล่าวว่า ขณะนี้ อยู่ในช่วงหน้าฝน จึงได้กำชับให้ทุกจังหวัดป้องกันไข้เลือดออก และกำจัดแห่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น คว่ำกะลาปิดฝาโอ่งน้ำ เป็น ต้น
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกปีนี้ ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.-ปัจจุบัน  พบผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศสะสม 26,079 ราย ส่วนใหญ่รักษาหาย มีรายงานเสียชีวิต 27 ราย ซึ่งถือว่ายังไม่มากเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2554 ที่พบผู้ป่วยทั้งหมด 43,227 รายเสียชีวิต 38 ราย โดยได้ให้ทุกจังหวัดดูแลอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับโรคมือเท้าปาก ทั้งการป้องกันโรค การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้านและรอบๆบ้าน โรงเรียน วัด และการดูแลรักษาผู้ป่วยซึ่งในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายโรคมือเท้าปาก


ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

PG&P
สโนว์  ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี  pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI คลิปตัวอย่าง PG&P FEED PG&P

โภชนาการสงฆ์ไทยจะใกล้หรือไกลโรค...อยู่ในมือคุณ


โภชนาการสงฆ์ไทยจะใกล้หรือไกลโรค...อยู่ในมือคุณ

ความอ้วนและโรคร้ายไม่เคยปราณีใคร แม้กระทั่งผู้ทำนุบำรุงและเผยแพร่ศาสนา อย่าง “พระสงฆ์” หลายคนอาจสงสัยว่า “ทำไมในเมื่อพระท่านฉันอาหารเพียง 2 มื้อ” แต่คุณรู้หรือไม่ว่า อาหารที่เหล่าพุทธศาสนิกชนนำมาถวายนั้นอาจเต็มไปด้วยของมัน หวานและอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้อย่างไม่ตั้งใจ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงน้ำปานะที่ฉันเข้าไปด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวการของโรคร้ายที่เกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ทั้งสิ้น
โดย ดร.พินิจ ลาภธนานนท์ นักวิจัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาแนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติ ทั้ง กาย ใจ สังคมและปัญญาของพระภิกษุสิงฆ์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากการสัมภาษณ์พระสงฆ์จำนวน 246 รูป ใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ครอบคลุมทั้งเขตเมืองขนาดใหญ่ กลาง และชนบท ปี 2554 พบว่า ในมิติของสุขภาวะทางกาย พระสงฆ์มีพฤติกรรมเสี่ยงหลักอยู่หลายประการทั้งสาเหตุหลักจากการฉันอาหารที่ ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เกิดโรคอ้วนถึง 45.1 % อีกทั้งยังพบพระสงฆ์ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ กระเพราะอาหารและลำไส้ ความดันโลหิตสูง โรคทางตา เบาหวาน โรคข้อกระดูกอีกด้วย และอีกโรคสำคัญ คือมะเร็ง เพราะยังคงพบพระสงฆ์สูบบุหรี่ถึง 43.1 % และสูบเฉลี่ยถึงวันละ 11 มวน อีกด้วย ในมิติสุขภาวะทางจิต พบพระสงฆ์ที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับจากภาวะเครียดและวิตกกังวลเรื่อง เรียน ครอบครัว ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง โดยค่าเฉลี่ยการนอนของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ต่อวันอยู่ที่ 8 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเพียงพอ ยกเว้นกลุ่มพระสังฆาธิการและพระบัณฑิตที่มีปัญหานอนไม่พอเนื่องจากกิจวัตร มาก ทำให้พระกลุ่มนี้เกิดปัญหาเรื่องความเครียดได้ง่าย
ในส่วนของการออกกำลังกายของพระสงฆ์นั้น ไม่สามารถทำได้อย่างประชาชนทั่วไป จึงใช้ตามสมณเพศของสงฆ์ เช่น ออกบิณฑบาต เดินจงกรม กวาดลานวัด ทำความสะอาดศาสนสถาน โดยพระสงฆ์ออกกำลังกายเป็นประจำถึง 43.9 % ออกนานๆ ครั้ง 28.9 % และ 14.6 % ไม่ได้ออกกำลังกายเลย ส่วนในมิติด้านสังคมพระสงฆ์ถือว่าก็มีความสัมพันธ์อยู่ในระดับที่ดีกับชุมชนและวัดอื่นๆ ใกล้เคียงสุดท้ายมิติด้านปัญญา พระสงฆ์ถือเป็นผู้ที่เข้าใจปัญหาและจัดการอารมณ์ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า  จากการวิจัยโครงการจัดการและแก้ไขปัญหาด้านอาหารและโภชนาการของพระภิกษุ สามเณร ที่นำไปสู่การป้องกันและแก้ไขการเกิดโรคเรื้อรังและการมีสุขภาวะที่ยั่งยืน โดยสัมภาษณ์เจาะลึกพระสงฆ์ 29 รูป จาก 4 วัดในชุมชนเมือง รวมถึงฆราวาสที่ใส่บาตร เพื่อศึกษาความปลอดภัยของอาหารและน้ำดื่ม พบว่า พระสงฆ์ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะพระสงฆ์สูงวัย เช่น น้ำหนักเกิน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เนื่องจากอาหารที่บรรจุถุงพลาสติกจากการออกบิณฑบาตนั้นเน้นหนักแต่แป้ง คาร์โบไฮเดรต มีปริมาณโปรตีนค่อนข้างน้อย และไม่สะอาดพอ เพราะพบการปนเปื้อนโคลิฟอร์มเกือบ 50% ของตัวอย่างทั้งหมด ซึ่งบ่งชี้ว่าการปรุงอาหารที่จำหน่ายยังมีการดูแลไม่เป็นไปตามหลักสุขาภิบาล อาหาร และที่น่าเป็นห่วงอีกอย่าง คือ เรื่องของน้ำปานะ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มหลังเพลนั้น สมัยนี้พระสงฆ์ฉันเครื่องดื่มหลากหลายคล้ายที่ประชาชนบริโภค หากฉันในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ เนื่องจากมีน้ำตาลสูงและฉันแล้วไม่ค่อยรู้สึกอิ่มเหมือนอาหารอาจทำให้มีการ เพิ่มปริมาณการฉัน ทางที่ดีไม่ควรฉันเกินวันละ 300 แคลอรี หรือเท่ากับ นม 2 กล่อง
"ตามลักษณะการฉันของพระสงฆ์แล้ว จะฉัน 2 มื้อ เช้าและเพล ซึ่งอาหารส่วนใหญ่ที่ได้รับจากการบิณฑบาตก็จะซ้ำ ทำให้จำเป็นต้องฉันอาหารที่ซ้ำๆ เช่น แกงกะทิ ผัดผัก ของทอด ซึ่งเป็นลักษณะอาหารที่มีน้ำมันจำนวนมากก่อให้เกิดโรค และยิ่งไปว่านั้น ยังพบว่าอาหารบางอย่างเกิดการเน่าเสียเมื่อนำมาฉัน ทำให้เกิดการท้องร่วงได้ง่าย” รศ.ดร.ภญ.จงจิตร กล่าว
รศ.ดร.ภญ.จงจิตร กล่าวต่อว่า งานวิจัยนี้สะท้อนชัดว่าพระสงฆ์ในชุมชนเมืองเสี่ยงต่อภาวะโภชนาการเกิน จำเป็น ต้องให้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้กำลังผลิตสื่อ 3 กลุ่ม เพื่อแพร่ความรู้อย่างครอบคลุม ได้แก่ 1.องค์ความรู้สำหรับพระสงฆ์ อาทิ คู่มือสูตรสงฆ์ไทยไกลโรค วีดิทัศน์สงฆ์ไทยไกลโรค ปฏิทินสุขเริ่มเมื่อเพิ่มก้าว โปรแกรมปานะปัญญา หรือ iPaana และประคดเอวรอบรู้ 2.องค์ความรู้สำหรับฆราวาส อาทิ คู่มือใส่ใจใส่บาตร และ 3.องค์ความรู้สำหรับผู้ค้าอาหารใส่บาตร อาทิ คู่มือจากครัวสู่บาตร เพื่อเป็นแนวทางดูแลโภชนาการพระสงฆ์ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
สุดท้าย ดร.พระมหาสุทิตย์ อาภากโร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพระพุทธศาสตร์ มจร. กล่าวว่า ปกติจะมีประชาชนนำอาหารไปทำบุญกันในวันพระใหญ่กันมาก เพราะเชื่อว่าการทำบุญในวันนี้จะได้รับอานิสงส์มากทั้งต่อตนเองและผู้ล่วง ลับ โดยนิยมนำอาหารที่เป็นสิริมงคล หรือที่ตนเองและผู้ล่วงลับชอบไปถวายพระสงฆ์ ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบของกะทิและน้ำตาล อาทิ แกงกะทิ ขนมทองหยอด ฝอยทอง เป็นต้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดโรคตามมาได้ ทั้งนี้ การตักบาตรทำบุญที่จะได้อานิสงส์สูงสุดไม่ได้อยู่ที่ชื่อหรือประเภทอาหาร แค่เป็นอาหารที่สะอาด ปลอดภัย รสไม่จัดก็พอ สิ่งสำคัญคือต้องทำด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ก็เพียงพอแล้ว
หากไม่อยากให้การทำบุญเปลี่ยนเป็นบาป มาร่วมกันดูแลใส่ใจสุขภาวะพระสงฆ์ด้วยการถวายอาหารที่สด สะอาด ถูกสุขลักษณะ เพื่อให้ “สงฆ์ไทย....ไกลโรค” นะคะ


เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

PG&P
สโนว์  ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี  pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI คลิปตัวอย่าง PG&P FEED PG&P

บทความที่ได้รับความนิยม

Backlinks