อุบัติเหตุรถยนต์ “คน" มักถูกมองว่าเป็นต้นเหตุ ก็ใช่-ส่วนหนึ่งก็เพราะคน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด!!
ทั้งนี้ เพราะ เมาแล้วขับขี่รถ เพราะ ง่วงแล้วขับขี่รถ เพราะ ขับขี่รถโดยประมาท เพราะ ไม่ห่วงหัว (ขี่หรือซ้อนมอเตอร์ไซค์โดยไม่ใส่หมวกกันน็อก) รวมถึง ไม่ได้เตรียม”รถ" ที่จะขับขี่ให้มีความปลอดภัย เหล่านี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งกับผู้ขับขี่และรถที่เป็นต้นเหตุ ผู้ขับขี่และรถคันอื่น รวมถึงผู้คนที่โดยสารมาในรถและผู้คนริมถนนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ซึ่งในแต่ละวัน แต่ละเทศกาล แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน แต่ละปี มีจำนวนมากมาย ทั้งที่ไม่ควรจะเกิด-ไม่น่าจะเกิด นี่ก็เพราะคนเป็นสาเหตุหลัก
อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ กรณีก็มี สภาพแวดล้อมเป็นสาเหตุประกอบ-เป็นตัวเร่งตัวเสริม อย่างช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วง “ฤดูฝน" ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็มีการเตือนผู้ขับขี่รถทั้งหลาย อาทิ...
ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง เนื่องจากสภาพถนนเปียกลื่น มีน้ำท่วมขัง และทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน การตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เช่น ระบบใบปัดน้ำฝน ระบบเบรก ยาง สัญญาณไฟ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
สำหรับการตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ยกตัวอย่าง ยางรถยนต์ ดอกยางควรมีความสูงไม่ต่ำกว่า 2.5 มิลลิเมตร หรือร่องยางไม่ต่ำกว่า 1.5-2 มิลลิเมตร พร้อมทั้งเติมแรงดันลมยางให้มากกว่าปกติ 2-3 ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรีดน้ำและยึดเกาะถนน โดยเฉพาะการขับผ่านเส้นทางที่เปียกลื่น หรือมีน้ำท่วมขัง เพราะหากลมยางอ่อนจะทำให้รถแฉลบหรือเสียการทรงตัวง่าย ระบบเบรก ตรวจสอบระดับน้ำมันเบรกอย่างน้อยเดือนละครั้ง หากตรวจพบความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเบรก เช่น เหยียบแป้นเบรกไม่ลง มีเสียงดังขณะหยุดรถ เบรกแล้วรถไม่หยุดในระยะที่กำหนด หรือเสียการทรงตัว ให้เปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ทันที
การขับรถในช่วงฝนตก ผู้ขับขี่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากกว่าปกติ เนื่องจากสภาพถนนที่ชื้นแฉะ เมื่อผสมกับฝุ่น จะกลายเป็นดินโคลน ทำให้ถนนลื่นกว่าปกติ และอาจเกิดอันตรายที่ไม่คาดคิดได้
ตัวอย่างการระมัดระวังในการขับรถในช่วงฝนตก ก็เช่น ขับรถอย่างมีสติ หมั่นสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อจะได้ควบคุมรถ ทิศทางการขับรถ ได้ทันท่วงที เว้นระยะห่างจากรถคันหน้า ให้มากกว่าปกติ หากรถคันหน้าเบรกกะทันหันจะได้หยุดรถได้ทัน เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น ผู้ขับขี่ต้องใช้ระยะทางในการเบรกมากกว่าปกติ ลดความเร็ว ให้มากกว่าปกติลงมา 1 เกียร์ และใช้ความเร็วในระดับที่สม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้รถยึดเกาะถนนได้ดีขึ้นแล้ว เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถควบคุมรถได้อย่างทันท่วงที อย่างปลอดภัย
ในช่วงฝนตกการขับรถมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ เนื่องจากสภาพถนนที่เปียกลื่น มีน้ำท่วมขัง และทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี ประกอบกับ “สภาพถนนที่ไม่ปลอดภัย" จึง “เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน" ได้ง่ายเหล่านี้ก็เป็นตัวอย่างบางส่วนของ "คำเตือน"
ทั้งนี้ นอกจาก "คน" "รถ" และนอกจากสภาพแวดล้อม เช่น "ฝน" อาจเป็นสาเหตุประกอบ-เป็นตัวเร่งตัวเสริม ดังที่ระบุมาข้างต้น กับ “ถนน" ไม่ว่าจะเป็นแบบพื้นราบหรือยกระดับเป็นสะพาน ก็ “อาจเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์" ตั้งแต่แค่เฉี่ยว ไปจนถึงชน หรือถึงขั้นรถหล่นจากสะพาน ซึ่ง "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์" ได้เคยชี้ไว้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน นี่ก็ “มองข้ามไม่ได้" ซึ่งแม้ปัจจุบันจะเริ่มมีการพูดถึงและยอมรับเรื่องนี้กันแล้ว แต่การปรับแก้มิให้อันตรายก็ยังทำได้ไม่เท่าไหร่ พอเกิดเหตุทีก็พูดกันทีเป็นแบบ ๆ เป็นจุด ๆ ไป ยังไม่ครอบคลุม
ขนาดถนนหลักในกรุงเทพฯ ที่มีทางยกระดับคร่อมข้างบนอย่างถนนวิภาวดีรังสิต มีสภาพเป็นเหมือนเนินลูกระนาดแทบทุกจุดที่เป็นที่ตั้งโคนเสาตอม่อทางยกระดับ เป็นอย่างนี้มานานแล้ว รถที่ไม่คุ้นสภาพเส้นทางหรือไม่ทันระวัง เกิดแฉลบ เกิดอุบัติเหตุเพราะเนินเหล่านี้ ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังเป็นแบบเดิม
"ในเมืองไทย เวลาเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ การสอบสวนมักพุ่งไปที่ตัวคนขับเป็นหลัก แต่ในประเทศที่มีมาตรฐานจะพิจารณาทั้งคน รถ ถนน" ทางหน่วยจัดการความรู้เพื่อถนนปลอดภัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เคยระบุไว้นานแล้ว ซึ่งมาถึงวันนี้ก็เริ่มมีการพิจารณาที่รถและที่ถนนด้วยแล้ว เพียงแต่วันนี้.คนไทยเชื่อมั่นกับมาตรฐานถนนได้มากน้อยแค่ไหน??
ถนนทำให้การขับขี่รถไม่ปลอดภัยไม่ควรจะมี
ถนนที่ทำให้อุบัติเหตุยิ่งรุนแรงยิ่งไม่ควรจะมี
ถนนมรณะยังมีในเมืองไทยอีกแค่ไหน?????
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
PG&P
สโนว์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI คลิปตัวอย่าง PG&P FEED PG&P
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น