"ฝ้า" คือ ภาวะที่ผิวหนังมีเม็ดสีหรือเมลานินมากขึ้นซึ่งเกิดจากการที่เซลล์สร้างเม็ด สีทำงานมากขึ้น บางครั้งจะพบว่าเซลล์สร้างเม็ดสีมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย มักพบบริเวณที่ร่างกายสัมผัสแสงแดด เช่นใบหน้า โดยเฉพาะหน้าผาก แก้ม จมูก เหนือริมฝีปากบน และกราม มักเริ่มเป็นฝ้าเมื่ออายุ 30-40 ปี เชื่อว่าเกิดจากแสงแดดเป็นหลัก เราจะพบได้ว่าฝ้ามักจะเข้มขึ้นเมื่อไปตากแดด และฝ้าสามารถจางลงได้ถ้าหากหลบแดด นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยในผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดและในผู้ที่ตั้งครรภ์ การรักษาฝ้าสามารถทำได้โดยการใช้ยาทาที่มีฤทธิ์ลดการสร้างเม็ดสี การใช้สารกลุ่มกรดผลไม้เพื่อผลัดเซลล์เม็ดสีส่วนเกินออก ร่วมกับการใช้ยากันแดดและการหลบแดด สำหรับการรักษาด้วยเลเซอร์จัดเป็นการรักษารอง บางรายที่ตอบสนองก็จะมีฝ้าจางเร็วขึ้นได้ แต่บางรายฝ้าอาจจะดำขึ้นหากเลือกใช้เลเซอร์หรือการตั้งค่าพลังงานเลเซอร์ไม่ เหมาะสม ส่วน "กระ" สามารถแบ่งได้หลายชนิด เช่น กระตื้น กระลึก กระแดด กระเนื้อ ซึ่งแต่ละชนิดจะมีหน้าตาแตกต่างกันไป กระตื้น จะมีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลอ่อน ขอบเขตชัด ขนาด 2-3 มิลลิเมตร มักพบได้ที่บริเวณสัมผัสแสงแดด เช่นใบหน้า โดยเริ่มเป็นตอนเข้าสู่วัยรุ่น มักพบในผู้ที่มีผิวละเอียดสีขาว หากสัมผัสแดดจะเป็นมาก และหากหลบแดดได้ดี อาจจะจางได้เอง บางรายอาจเริ่มเป็นตั้งแต่อายุก่อน 10 ปี สำหรับการรักษากระตื้นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดคือการใช้เลเซอร์ที่มี ความยาวคลื่นที่เหมาะสมที่จะจับเม็ดสี เช่น เลเซอร์คิวสวิทช์เอนดีแย็ก คิวสวิทช์อเลกซานไดรท์ และเลเซอร์ทับทิมชนิดคิวสวิทช์
นอกจากนี้ยังมีแสงความเข้มสูงหรือที่เรียกกันว่า "ไอพีแอล" อาจจะพอช่วยได้ บางครั้งอาจใช้น้ำยาทางการแพทย์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนแต้ม เพื่อให้กระหลุดออก แต่การใช้น้ำยามีข้อเสียคือ อาจเกิดแผลเป็นได้ หากแต้มมากเกินไป กระตื้นจุดที่รักษามักจะหายได้ภายหลังการรักษาโดยเลเซอร์ 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นกระตื้นอาจจะเป็นกระตื้นจุดใหม่ได้อีก ดังนั้น จึงควรหลบแดดและใช้สารกันแดด เพื่อไม่ให้เกิดจุดใหม่
กระอีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในชาวเอเชีย คือ "กระลึก" รอยโรคจะมีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลเข้ม อมเทาดำ ขอบเขตไม่ชัด ขนาด 2-3 มิลลิเมตร มักพบที่โหนกแก้มและจมูก พบได้เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป สีจะค่อย ๆ เข้มขึ้นตามกาลเวลา โดยส่วนใหญ่ คนไข้จะได้รับการรักษาแบบฝ้ามาบ้างแล้วหรือรักษาด้วยแสงความเข้มสูงหรือ ไอพีแอล แต่ไม่ดีขึ้น ซึ่งกระลึกต้องทำการรักษาด้วยเลเซอร์พลังงานและความยาวคลื่นที่เหมาะสม เท่านั้น ไม่สามารถใช้ยาทา น้ำยาแต้ม หรือแสงความเข้มสูงไอพีแอลรักษาได้ หากทำการรักษาได้ถูกวิธี กระลึกมักจะหายไปภายหลังการรักษา 3-6 ครั้ง ส่วนมากผู้ที่เป็นกระลึกจะไม่เป็นซ้ำอีก หากทำการรักษาด้วยเลเซอร์จนหายไปแล้ว
"กระแดด" เป็นกระอีกรูปแบบหนึ่งที่มักเกิดได้ในวัยกลางคนถึงสูงวัย ลักษณะจะเป็นแผ่นสีน้ำตาลอ่อน ขอบเขตชัด ขนาด 0.3-2 เซนติเมตร เกิดจากแสงแดดและอายุที่มากขึ้น กระชนิดนี้หากปล่อยทิ้งไว้ อาจใหญ่และนูนขึ้นได้ กระชนิดนี้ไม่สามารถจางลงได้แม้หลบแดด จึงต้องทำการรักษาโดยเลเซอร์เท่านั้น เลเซอร์ที่ใช้จะเป็นชนิดเดียวกันกับ
เลเซอร์ที่ใช้รักษากระตื้น ส่วนมากจะหายภายหลังการรักษาด้วยเลเซอร์ 1-2 ครั้ง ผู้ที่เป็นกระแดดอาจจะเป็นกระแดดจุดใหม่ได้อีก ดังนั้นจึงควรหลบแดดและใช้สารกันแดด เพื่อไม่ให้เกิดจุดใหม่
"กระเนื้อ" คือเนื้องอกของผิวหนังชนิดหนึ่ง กระชนิดนี้ที่จริงแล้วไม่ใช่กระ แต่เป็นเซลล์ผิวหนังที่แบ่งตัวมากขึ้น มีลักษณะสีน้ำตาลอ่อนจนไปถึงสีน้ำตาลเข้มและดำ รอยโรคจะเป็นตุ่มนูนผิวขรุขระ ขนาดตั้งแต่ 2 มิลลิเมตรจนถึงหลายเซนติเมตร มักพบบริเวณใบหน้า คอ แขนและลำตัว เชื่อว่าเกิดจากกรรมพันธุ์และอายุที่มากขึ้น บางคนเริ่มเป็นตั้งแต่อายุ 20 ปี เนื้องอกชนิดนี้เป็นเนื้อดี ไม่กลายเป็นมะเร็ง แต่อาจใหญ่ขึ้นทำให้แลดูไม่สวยงามได้ บางรายอาจพัฒนามาจากกระแดด การรักษาที่ดีที่สุดคือการใช้เลเซอร์ที่มีอำนาจทำลายผิวชั้นบน เช่น คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ อาจใช้จี้ไฟฟ้า หรือทำการรักษาด้วยไนโตรเจนเหลว หรือตัดออก เมื่อกระเนื้อจุดเดิมหายแล้ว ในอนาคตอาจเป็นกระเนื้อจุดใหม่ได้ ไม่มีวิธีป้องกันการเกิดกระเนื้อรอยดำอีกชนิดบนใบหน้าที่พบได้บ่อย คือรอยดำที่เกิดภายหลังการอักเสบของผิวหนัง ซึ่งรวมไปถึงการที่ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ ตัวอย่างที่พบได้บ่อย คือรอยดำจากสิว โดยจะพบมากหากเป็นสิวอักเสบหรือไปแกะสิวเพราะการแกะสิวจะทำให้ผิวหนังบาด เจ็บและอักเสบมากขึ้น รอยดำลักษณะนี้จะเป็นจุดหรือปื้นสีน้ำตาล เกิดบริเวณเดียวกับที่ผิวหนังเคยมีการอักเสบมาก่อน (เช่น มีอาการแดง บวม เจ็บ) วิธีการรักษาที่สำคัญที่สุดคือต้องหยุดการอักเสบโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยการอักเสบให้เกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ รอยดำจะเป็นมากขึ้น เมื่อการอักเสบหายแล้ว สามารถรักษารอยดำที่เหลือได้โดยการใช้ยาทา หรืออาจใช้เลเซอร์เสริมเพื่อทำให้จางเร็วขึ้น
ขึ้นชื่อว่ารอยดำแล้ว แม้จะไม่อันตราย แต่ก็ส่งผลต่อการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับชีวิต โดยเฉพาะในคุณผู้หญิงที่มักจะกังวลกับปัญหารอยดำกันมาก เชื่อเหลือเกินว่าแฟนคอลัมน์คงจะได้ความรู้เกี่ยวกับรอยดำชนิดต่าง ๆ บนใบหน้า รวมถึงแนวทางการรักษารอยดำแต่ละชนิดกันเป็นอย่างดี ฉะนั้น หากพบว่ามีรอยดำและต้องการแก้ไขรักษา แนะนำว่าให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังเป็นการดีที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย อาจารย์นายแพทย์ วาสนภ วชิรมน อาจารย์แพทย์ประจำแผนกผิวหนังและเลเซอร์ หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
PG&P
สโนว์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI คลิปตัวอย่าง PG&P FEED PG&P
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น