นอกจากความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ และหมอกควันแล้ว ร้อนๆ อย่างนี้ ยังมีโรคภัยจากอาหาร และสัตว์เลี้ยง ที่เราจำเป็นต้องเตือนกันให้ระมัดระวังกันทุกปี ลองไปดูว่า ร้อนนี้มีโรคอะไรบ้างที่เราต้องระวัง
1.โรคจากสัตว์เลี้ยง จริงๆ แล้วโรคจากสัตว์ในช่วงนี้ ต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษ เพราะมีรายงานว่าพบโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนจำนวนมากถึง 271 โรค เป็นต้นว่า สัตว์ฟันแทะ 44 โรค การทำปศุสัตว์ 37 โรค โรคจากแมว 34 โรค ลิง 27 โรค สัตว์เลื้อยคลานและปลา 20 โรค กระต่าย 17 โรค และนก 15 โรค นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ยังมีรายงานว่ามีโรคอุบัติใหม่อย่าง 'พยาธิ หนอนหัวใจ' ที่ติดจากยุงมากัดสุนัข และพบว่า โรคนี้อาจเป็นภัยคุกคามคนเมืองได้เนื่องจากมีรายงานในต่างประเทศว่ามีการ ติดต่อจากสุนัขมาสู่คนได้ด้วย
ที่สำคัญยังพบโรคจากสัตว์เลี้ยงแสนรักมากถึง 47 โรค โดยเฉพาะร้อนๆ แบบนี้ ต้องระวังพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่อันตรายร้ายแรง
โรคพิษสุนัขบ้า หรือ "โรคกลัวน้ำ" (Hydrophobia) เกิดจากผู้ที่มีบาดแผลถูกสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อ "เลีย" หรือถูก "กัด" เมื่อได้รับเชื้อแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการจะต้องเสียชีวิตทุกราย ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโลกนี้ไม่ต่ำกว่า 55,000 รายต่อปี ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ประชาคมอาเซียนมีเป้าหมายร่วมกันจะกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากอาเซียน ภายในปี ค.ศ.2020 หรือ พ.ศ.2563
สำหรับประเทศไทย มีผู้สัมผัสโรคได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าไม่ต่ำกว่าปีละ 5 แสนราย แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทุกปี จากรายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ระหว่างปี พ.ศ.2551-2555 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว 9, 24, 15, 8 และ 4 รายตามลำดับ ในปี พ.ศ.2556 ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย
ส่วนผู้ที่ถูกสุนัขกัดและไปรับ วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้านั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี 33.17% ของผู้มารับการฉีดวัคซีน) และมักถูกลูกสุนัขกัด ดังนั้นในช่วงฤดูร้อนนี้ ผู้ปกครองต้องระวังบุตรหลานอย่าเข้าใกล้สุนัข ที่ตนเองไม่ได้เลี้ยง แม้จะเป็นลูกสุนัขที่น่ารักหรือไม่ดุก็ตาม อย่าปล่อยให้เด็กอยู่กับสุนัขตามลำพัง เพราะหากสุนัขที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามาข่วน ขบ กัด แค่เพียงเป็นรอยแผลเป็นเล็กๆ ก็สามารถติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ ที่สำคัญระลึกไว้เสมอว่า "โรคนี้เป็นแล้วตายไม่มียารักษา"
อย่างไรก็ตามหากถูกสุนัขกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน แล้วรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ และควรกักขังหรือติดตามดูอาการสุนัข 10 วัน (ถ้าเป็นสุนัขบ้าจะตายภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ) นอกจากสุนัขแล้ว แมวก็เป็นสัตว์เลี้ยงอีกชนิดหนึ่งที่สามารถแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้าสู่คนได้
นอกจาก พิษสุนัขบ้า โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ควรมีการเฝ้าระวังในปี 2556 คือ โรคโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ 2012 ที่ระบาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โรคไข้หวัดนก โรคคอตีบ ซึ่งประเทศไทยหายไปแล้วราว 20 ปี แต่กลับมาพบอีกครั้ง
2. โรคจากอาหารและน้ำ ได้แก่ โรค อุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย และโรคตับอักเสบจากไวรัสทางเดินอาหารชนิดเอ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค โรคติดต่อทางอาหารและน้ำเป็นโรคที่พบบ่อย โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน
ในช่วงเกือบ 2 เดือนแรกของปี 2556 นี้ มีรายงานผู้ป่วยทั้ง 6 โรค รวม 146,452 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 128,855 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 28 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ โรคอาหารเป็นพิษ 15,965 ราย โรคบิด 1,197 ราย และโรคตับอักเสบจากไวรัสทางเดินอาหารชนิดเอ จำนวน 43 ราย ส่วนโรคอหิวาตกโรค ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย
แนวทางป้องกันที่สำคัญ คือควรล้างมือทุกครั้งก่อนทานอาหารและหลังออกจากห้องน้ำ แยกอาหารสดออกจากอาหารที่ปรุงสุกแล้วเสมอ ควรปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง หากผู้ที่มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคคั่งค้างในร่างกาย จะเป็นอันตรายรุนแรงขึ้น
ขอให้ดื่มน้ำหรือทานอาหารเหลวมากๆ และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือโออาร์เอสแทนน้ำ โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซอง ผสมกับน้ำต้มสุกเย็น 1 แก้ว ประมาณ 250 ซีซี หากไม่มีผงเกลือแร่สำเร็จ สามารถปรุงเองได้ โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกเย็น 1 ขวดน้ำปลากลม ประมาณ 750 ซีซี ให้ผู้ป่วยดื่มบ่อยๆ เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ หลังดื่มแล้วอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้น แต่หากยังไม่หยุดถ่ายและมีอาการมากขึ้น เช่น อาเจียนมากขึ้น อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเน่าคล้ายหัวกุ้งเน่า ปวดบิด มีไข้สูงขึ้นหรือชัก ควรพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้เสียชีวิตได้
ร้อนนี้ หากใครมีโรคประจำตัว นอกจากจะต้องใส่ใจแล้ว อาหารและสัตว์เลี้ยงยังเป็นอีกสองอย่างที่ต้องระมัดระวัง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
PG&P
น้ำมันรำข้าว สโนว์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI คลิปตัวอย่าง PG&P FEED PG&P
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น