สถานการณ์โรคอ้วนของไทยเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันมีความเสี่ยง ทั้งการบริโภคอาหารเกินความจำเป็น มีพฤติกรรมกินหวานเพิ่มขึ้น นำมาสู่สาเหตุการเกิดโรคอ้วน เบาหวาน ไขมัน และความดันเลือดสูง ซึ่งในอนาคตอีก 10-20 ปี รัฐบาลต้องจ่ายค่ารักษาอาการแทรกซ้อนจาก "โรคกินเกิน" เป็นเงินมหาศาล องค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัญหาสุขภาพที่เลวร้ายซึ่งเกิดจากพฤติกรรม 3 อันดับแรก คือ 1.พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศนำไปสู่การ ติดเชื้อเอชไอวี 2.การสูบบุหรี่ที่นำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ และ 3.โรคอ้วนที่นำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถิติสถานะสุขภาพคนไทย จากการสำรวจ The Nation Household Education Surveys Program (NHES) ครั้งที่ 3 ปี 2546-2547 เปรียบเทียบกับการสำรวจ NHES ครั้งที่ 4 ปี 2551-2552 พบภาวะไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง มีอัตราความชุกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.5 เป็น 19.4
ในขณะที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ผลการสำรวจล่าสุดพบคนไทยมีปัญหาภาวะโภชนาการเกิน และกลายเป็นโรคอ้วนเพิ่มสูงมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 12 ปี มีความอ้วนพุ่งสูงถึงร้อยละ 40 รองลงมาคือช่วงอายุ 40-50 ปี อ้วนเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า และช่วงอายุ 20-29 ปี มีความอ้วนอยู่ที่ร้อยละ 21.7
และที่น่าตกใจคือ ข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า เด็กไทยที่อ้วนกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเจาะเลือดหาไขมันในร่างกายแล้ว พบว่าร้อยละ 70 มีปัญหาไขมันสูงเกินมาตรฐาน
ผลสำรวจสุขภาพล่าสุด มีคนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไปเป็นโรคอ้วน ติดอันดับ 5 ของเอเชียแปซิฟิก โดยมีคนอ้วนมากถึง 17 ล้านคนทั่วประเทศ และยังมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4 ล้านคนต่อปี ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท
ไขมัน เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะร่างกายใช้เป็นแหล่งพลังงาน โดยไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่ ไขมันยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของผนังเซลล์ ฮอร์โมนเพศ และเป็นตัวพาวิตามินที่ละลายในไขมันเข้าสู่ร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ไขมันมีประโยชน์หากกินในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย แต่หากกินไขมันเกินความต้องการ ส่วนเกินนี้ร่างกายเก็บสะสมในรูปเซลล์ไขมัน แทรกอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ใต้ชั้นผิวหนัง แต่หากสะสมในช่องท้องมากขึ้นๆ จะกลายเป็นคนอ้วนลงพุง
ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยแรกๆ และสำคัญ ที่นำไปสู่โรคไต โรคหัวใจ ไขมันจึงนับเป็นภัยเงียบที่ซ่อนตัวในร่างกายของเรา เพราะการมีไขมันสะสมในร่างกายมาก ไม่ได้ทำให้ร่างกายรู้สึกเจ็บปวด หรือเจ็บป่วย
บางคนมารู้อีกทีด้วยอาการปางตายหรือสายเสียแล้ว เช่น "เจ็บหน้าอก ปวดน่องเวลาเดินมากๆ อัมพาตไม่รู้สึกตัว หย่อนสมรรถภาพ ยกเว้นในคนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงมากๆ อาจจะพบตุ่ม หรือแผ่นเนื้อเยื่อไขมันลักษณะสีเหลือง บนผิวหนัง (เช่น บริเวณหนังตา คอ หลัง สะโพก) เรียกว่า Xanthoma ถ้าพบบริเวณเส้นเอ็น (เช่น เอ็นร้อยหวาย เอ็นบริเวณหลังมือ) ก็อาจทำให้เส้นเอ็นมีลักษณะหนาตัว บางรายอาจจะพบวงแหวนสีขาวๆ ตรงบริเวณขอบกระจกตาดำ (แบบที่พบในผู้สูงอายุ เรียกว่า Arcus senilis)
การหมั่นตรวจเช็กสุขภาพ ด้วยการตรวจเลือด เฝ้าระวังทุกปี หรือทุก 6 เดือน จะพบภาวะการเปลี่ยนแปลงไขมันสูงในเลือดได้ และจะช่วยให้เราใส่ใจเรื่องการกินอาหารที่มีไขมันน้อย ซึ่งจะช่วยลดไขมันหรือป้องกันไม่ให้ไขมันในเลือดสูง
อย่างไรก็ตาม บางภาวะ โดยเฉพาะในผู้สูงวัย หรือคนอ้วน มีแนวโน้มไขมันในเส้นเลือดสูงขึ้นเรื่อยๆ บางรายอาจต้องกินยาลดไขมัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด ที่มีไขมันไปเกาะหลอดเลือด จะทำให้หลอดเลือดหนาตัวแข็งขึ้น หลอดเลือดเล็กลง สิ่งที่จะตามมา จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และหรือถ้าเกิดที่หลอดเลือดหัวใจทำให้หัวใจขาดเลือด
ถ้าเกิดที่หลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม
ถ้าเกิดที่หลอดเลือดไปเลี้ยงขา ทำให้เดินแล้วปวดน่อง เป็นตะคริว ปลายเท้าเย็น เป็นแผลเรื้อรัง หรือปวดขา หรือปลายเท้า
ถ้าเกิดที่หลอดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศ ในผู้ชาย จะทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือภาวะองคชาตไม่แข็งตัว
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่มีภาวะไตกลี เซอไรด์ในเลือดสูง (เกิน 100 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 ซีซี) จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ทำให้เกิดเบาหวานได้
ภาวะไขมันในเลือดสูง พบบ่อยได้ทั้งชายและหญิง พบมากในคนที่มีประวัติพันธุกรรม คนอ้วน หรือคนที่ชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย หรืออาจมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ ดังนั้น เพื่อหลีกเลียงจากภัยเงียบที่แฝงเร้นในร่างกายของเรา จึงต้องหมั่นดูแลร่างกายด้วยการใช้หลัก 3 อ. ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
อาหาร กินผักผลไม้ให้มากๆ เช่น ข้าวโพด ถั่วต่างๆ หลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด
กินอาหารเนื้อสัตว์ใหญ่ (วัว หมู) ให้น้อยลง หันมากินโปรตีนจากปลา ไก่ ถั่วเหลือง เต้าหู้
หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวสูง เช่น ครีม ไอศกรีม ขนมที่ทำจากแป้งกรอบ หมูสามชั้น ขาหมู ไส้กรอก กะทิ เนยเหลว ถ้านิยมดื่มนม ควรดื่มนมพร่องมันเนย หลีกเลี่ยงกินเครื่องในสัตว์ สมองสัตว์ ไข่แดง
หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาล และของหวานออกกำลังกาย เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 30-45 นาที หรือวันเว้นวัน ถ้าอ้วนให้ลด น้ำหนัก งดบุหรี่ งดเหล้า
อารมณ์ ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่หงุดหงิด ไม่เครียด
ยังไม่สายเกินไป หากวันนี้คุณจะเริ่มต้น ใส่ใจ ตรวจวัดไขมันในเลือดของตัวเอง เพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค
และใครที่กำลังมีแผนการจะลดน้ำหนักเพื่อลดความเสี่ยง แต่ยังหาแรงจูงใจไม่ได้ ผู้เขียนก็มีโครงการที่อยากแนะนำกับการ "ลดอ้วนสร้างบุญ" ของกระทรวงสาธารณสุข โดยดำเนินการในช่วงเข้าพรรษา และมีเป้าหมายว่า จะลดน้ำหนักรวมกันทั้งประเทศให้ได้ในพรรษานี้จำนวน "หมื่นตัน" ท่านใดสนใจต้องการทำบุญด้วยการสลัดและบริจาคไขมัน ก็ลองถามรายละเอียดที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
ส่วนผู้เขียนตอนนี้ขออนุญาตไปปั่นจักรยานสลัดไขมันก่อนครับ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน โดย นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข
PG&P
สโนว์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI
คลิปตัวอย่าง PG&P
FEED PG&P