สาธารณสุขยอมรับเด็ก 2 ขวบติดเชื้อ เอนเทอโรไวรัส71เสียชีวิต แต่ไม่สามารถสรุปโรคมือเท้าปากเหตุอาการไม่ชัดเตรียมเสนอข้อมูลเข้าที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญไวรัสชี้ขาดสัปดาห์หน้า พร้อมยืนยันไม่ปกปิดข้อมูล ภายหลังความสับสนสาเหตุการเสียชีวิตเด็ก 2 ขวบ ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เกิดจากโรคมือ เท้า ปากหรือไม่จนทำให้กระทรวงสาธารณสุขถูกตั้งข้อสังเกตว่าปกปิดข้อมูลนั้น วานนี้ (21 ก.ค.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีเด็กวัย 2 ขวบเสียชีวิตที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2555 ที่ผ่านมาว่า ผลการตรวจสารคัดหลั่งในคอเด็กพบเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส71สายพันธ์ดี5 แต่เป็นสายพันธ์ที่ไม่รุนแรงพบในเด็กไทยทั่วไป
"สธ.ไม่ได้ปิดบังข้อมูลแต่การตรวจในครั้งแรกในวันที่ 16 ก.ค. ได้ตรวจปัสสาวะของเด็กไม่พบเชื้อจนกระทั่งวันที่ 17 ก.ค.ตรวจพบในสารคัดหลั่ง"
นพ.สุรวิทย์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเด็กรายนี้เสียชีวิตจากโรคมือเท้าปาก เพราะที่ผ่านมาเด็กเคยเข้ารับการรักษาด้วยโรคหัวใจจึงต้องเสนอข้อมูลให้ผู้เชี่ยวชาญไวรัสสรุปอีกครั้งแต่ได้ขึ้นบัญชีให้เด็กรายนี้เป็นผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยโรคเมือเท้าปากแล้ว
"จะนำข้อมูลการเสียชีวิตของเด็กรายนี้ เข้าที่ประชุมของผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยาในสัปดาห์หน้า"นพ.สุรวิทย์กล่าว การที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปากจะต้องพิจารณา 3 ด้าน ได้แก่ 1. ระบาดวิทยาของเชื้อโรคมือเท้าปาก 2. อาการของ ผู้ป่วยที่ปรากฏตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงก่อนเสียชีวิต และ 3. ผลการตรวจเชื้อขั้นยืนยันทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดังนั้นผู้เสียชีวิตรายนี้ยังจัดอยู่ในข่ายของผู้ป่วยสงสัยเท่านั้น จะต้องรอ ผลการประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญ เพื่อยืนยันสาเหตุการเสียชีวิต
ดึงนักไวรัสถกเหตุเด็ก 2 ขวบตาย
ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ปกครองรายหนึ่งระบุว่า ลูกสาววัย 2 ขวบตายจากโรคมือ เท้า ปากว่า สัปดาห์หน้าจะนำประเด็นนี้เข้าหารือในที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส
โดยจะนำผลตรวจที่ได้จากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กหญิงวัย 2 ขวบเข้าพิจารณาว่า เข้าหลักเกณฑ์เสียชีวิตจากโรคมือเท้าปากหรือไม่ โดยนำ 3 หลักเกณฑ์พิจารณา ทั้งด้านระบาดวิทยา อาการทางคลินิก และผลจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
รพ.ยันเจอเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
ด้าน นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ไม่ได้มีการปิดบังการเกิดโรค แต่เด็กที่เสียชีวิตไม่แสดงอาการ คือ ไม่มีตุ่มใสหรือผื่น ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ร่างกาย หรือปาก แต่เชื้อได้เข้าไปทำลายปอด สมอง และหัวใจ โดยพบเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่คอของเด็ก ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนี้มีโอกาสเสียชีวิตเพียงร้อยละ 10
แต่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง รวดเร็ว และกระจายเข้าไปทุกระบบของร่างกาย อย่างไรก็ตาม เตรียมส่งกรณีดังกล่าวให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสเป็นคนพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์โรคหรือไม่
ยืนยันเชื้อไวรัสยังไม่กลายพันธุ์
ส่วน นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนสายพันธุ์แพร่ระบาดนั้นยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่าเปลี่ยนสายพันธุ์จริงหรือไม่ แต่การเฝ้าดูการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ยังคงมีความจำเป็น เนื่องจากหากพบว่ามีการแพร่ระบาดข้ามจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง ทำให้แพทย์สามารถเชื่อมโยงสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคได้
ทางด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่า โรคมือเท้าปากในปีนี้ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่ปีนี้ สธ.เพิ่มการประชาสัมพันธ์มากขึ้น เนื่องจากประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนาม มีผู้ป่วยกว่า 63,000 คน เสียชีวิต 34 คน กัมพูชาก็เสียชีวิตมาก ส่วนในจีน ป่วยกว่า 1.2 ล้าน คน เสียชีวิตกว่า 100 คน สิงคโปร์ป่วยกว่า 26,000 คน
ส่วนในไทย มีการเผยแพร่ความรู้มากขึ้น ทำให้คนเกิดความตระหนัก โดยการเก็บตัวอย่างเชื้อมาตลอดปียังไม่มีเชื้อที่รุนแรงที่จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนทำให้ถึงตายได้ ทุกปีที่ผ่าน มาก็พบโรคนี้ได้ทั่วไป และยืนยันปีนี้จะดูแลควบคุมให้ดีที่สุด โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่อยู่กับไทยมา 50 ปีแล้ว เชื้อไม่มีการกลายพันธุ์ แต่การที่เกิดการระบาดในช่วงนี้ เพราะเด็กเข้าโรงเรียนใหม่
ชี้ปีนี้พบผู้ป่วยไม่ต่างปีที่แล้ว
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ทำความสะอาด สถานศึกษา หรือโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ในกรณีที่พบเด็กนักเรียนป่วย 10 คนขึ้นไปจะมีกิจกรรมควบคุมป้องกันร่วมกัน และให้ความรู้ว่าเมื่อป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ให้รีบไปพบแพทย์ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมีผู้ป่วยจำนวนมาก จึงต้องเพิ่มมาตรการในการป้องกัน รวมทั้งการดูแลความสะอาดของทุกๆ สถานที่
"ขอยืนยันว่าโรงพยาบาลทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ภาครัฐอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยและเอกชน สามารถดูแลผู้ป่วยโรคมือเท้าปากได้ สธ.เน้นการประชาสัมพันธ์ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษป้องกันการสูญเสีย ซึ่งไม่เพียงแต่โรคมือ เท้า ปาก เท่านั้นยังรวมถึงไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมักพบผู้ป่วยในช่วงหน้าฝน"
ส่วนสถานการณ์ของโรคมือเท้าปาก ในขณะนี้ จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี และประชาชนมีการตื่นตัวในเรื่องนี้ดีมาก ซึ่งโรคมือเท้าปากจัดเป็นโรคประจำถิ่นในไทยอยู่แล้ว การเกิดโรคในปีนี้ไม่ได้มากกว่าปีที่แล้ว
ในปี 2554 พบผู้ป่วยประมาณ 18,000 ราย โดยในรอบ 7 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 13,200 ราย เชื่อว่าเชื้อจะระบาดต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน ก็จะเบาบางลง เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมจะไม่เหมาะสมกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งชอบความ ชื้น และประการสำคัญ ยังไม่พบการแพร่ ระบาดของเชื้อโรคมือเท้าปาก จากกัมพูชาเข้ามาในไทย
กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่ไปตรวจคัดกรองให้กับชาวกัมพูชาที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ตามจังหวัดที่ติดชายแดน หากพบว่าเด็กกัมพูชาที่เข้ามาในไทยมีอาการป่วยโรคมือเท้าปาก จะให้การรักษาอย่างดีตามหลักมนุษยธรรม และแนะนำให้กลับไปพักรักษาตัว ที่ประเทศกัมพูชาจนหายเป็นปกติ จะไม่อนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันดูแลสุขภาพของลูกหลาน ให้หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในที่แออัด ให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ โดยทั้งผู้ปกครองและเด็ก ต้องล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ หลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ หรือก่อนรับประทานอาหาร
ภายหลังเข้าห้องน้ำห้องส้วมทุกครั้ง เปิดประตูหน้าต่างให้แสงแดดส่องเข้าถึง เพื่อลดความอับชื้นในบ้าน และให้สังเกตอาการเด็กทุกวัน หากเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปากสัญญาณของโรคนี้ คือ มีไข้ต่ำๆ ต่อมาประมาณ 2-3 วันจะมี ตุ่มใสขึ้นตามมือ เท้า และในปากที่ใดที่หนึ่ง หากพบเด็กมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
กทม.ตั้งวอร์รูม 50 เขตทั่วกรุง
ด้าน พญ.มาลีนี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.ยังติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้จัดทำแผนและมาตรการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ในพื้นที่ ประกอบด้วย
1. มาตรการเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง ด้วยการตรวจร่างกายเด็กทุกคนก่อนเข้าสถานที่ อาทิเช่น ศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน และสวนสนุกในห้างสรรพสินค้า 2. มาตรการแยกผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยว่าป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก โดยให้พักอยู่บ้านเป็นเวลา 7 วัน
3. มาตรการดูแลรักษาความสะอาดสภาพแวดล้อม ของเล่น ของใช้ และสุขอนามัยบุคคล 4. มาตรการประชาสัมพันธ์ แนวทางการป้องกันควบคุมโรคแก่ผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่เสี่ยง ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป และ 5. มาตรการรักษาผู้ป่วยตามแนวทางรักษาของกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง เพื่อชี้แจงให้ผู้รับผิดชอบ อาทิเช่น ศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลของสำนักงานเขต 50 แห่ง ลงพื้นที่ดำเนินการป้องกันและรักษาความสะอาดในพื้นที่เสี่ยง และจัดทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วทั้ง 71 ทีม ดำเนินการสอบสวนโรคเมื่อได้รับรายงานผู้ป่วย เผยแพร่แนวทางการปฏิบัติป้องกันโรคให้ประชาชน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
PG&P
สโนว์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI
คลิปตัวอย่าง PG&P
FEED PG&P