นายวิทยา บุรณศิริ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการควบคุมไข้มาลาเรีย
ซึ่งเป็นโรคที่ระบาดในฤดูฝนและมักพบตามพื้นที่ป่าเขา แนวชายแดนว่า
กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการควบคุมและยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศ
ตั้งเป้าหมายภายใน 9 ปี
ภายใน พ.ศ.2563 ต้องสามารถยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียอย่างถาวร
ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 80 ของประเทศ เน้นให้กรมควบคุมโรค
ใช้ระบบทำงานเชิงรุก โดยตั้งจุดตรวจมาลาเรียที่มีการระบาดหรือพบผู้ป่วย
หรือในพื้นที่จังหวัดตามแนวชายแดน ขณะนี้ได้จัดตั้งแล้วรวม 760 แห่ง
ประกอบด้วย ศูนย์มาลาเรียคลินิก 300 แห่ง และมาลาเรียคลินิก ชุมชน 460
แห่งทั่วประเทศ สามารถตรวจวิเคราะห์เชื้อรู้ผลภายใน 15 นาที
และจัดยารักษาให้ฟรีให้แก่ผู้ป่วย ทั้งคนไทยและต่างชาติได้ทันที
ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล โรคนี้มียารักษาหาย หากรักษาเร็ว
จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดี
ไข้มาลาเรียนี้มีโอกาสป่วยซ้ำได้อีก โดยมียุงก้นปล่องซึ่งอยู่ในป่าเขา
เป็นตัวการแพร่เชื้อ
มาตรการสำคัญคือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะประชาชนทุกกลุ่มอายุที่อาศัยในพื้นที่ป่าเขาแนวชายแดน หรือมีสวนยางพารา
กลุ่มคนที่เสี่ยงป่วยโรคนี้มี 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มคนที่มีอาชีพสัมพันธ์กับป่าเช่นกรีดยาง หาของป่า 2.แรงงานต่างชาติ
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา
และพม่า เพื่อควบคุมป้องกันโรคตามพื้นที่ชายแดนร่วมกัน
และป้องกันปัญหายารักษามาลาเรียปลอม ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เชื้อดื้อยา
และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตด้วย และขยายความร่วมมือระดับอาเซียน
เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมป้องกันโรค มั่นใจว่าปี 2563
จะลดและควบคุมการเกิดโรคมาลาเรียได้
ด้าน
นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค
กล่าวว่า ในวันนี้ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมดูงานบริการของคลินิกมาลาเรียที่
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 9.3 อ.แม่สอด จ.ตาก
ซึ่งนอกจากจะมีการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว เพื่อตรวจเชื้อมาลาเรียและรักษาแล้ว
ยังมีการแจกมุ้งชุบสารเคมีที่มีชื่อว่าไพรีทรอยด์
ซึ่งสามารถน็อคยุงก้นปล่องตายได้ภายใน 2 วินาที
และไม่เป็นอันตรายต่อคนที่นอนในมุ้ง และมีการพัฒนาชุดปฏิบัติงานในป่า
ซึ่งออกแบบเป็นพิเศษ ใยผ้าเหนียว ใช้สีอ่อน ปิดร่างกายมิดชิดป้องกันยุงกัด
ใช้ได้ผลดี
โดยในปีนี้กรมควบคุมโรคได้จัดงบประมาณจัดซื้อมุ้งเพื่อชุบสารไพรีทรอยด์แจก
ประชาชนจำนวน 200,000 หลัง
"ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคมาลาเรียได้เป็นอย่างดี
แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ ในปี 2553 มีผู้ป่วยมาลาเรียทั้งหมด 45,629
ราย ปี 2554 มีผู้ป่วยทั้งหมด 29,025 ราย โดยผู้ป่วยร้อยละ 60
เป็นต่างชาติ ในปี 2555 ตั้งแต่ 1 มกราคม-17 สิงหาคม 2555 พบผู้ป่วย 10,356
ราย เป็นคนไทยร้อยละ 68 ต่างชาติร้อยละ 32 มากสุด คือ พม่า ร้อยละ 22
ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 31 รองลงมา คือ รับจ้างกรีดยาง ร้อยละ
27 จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากร สูงสุด 5 จังหวัดแรกได้แก่ ตาก
ระนอง แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรีและตราด โดยสถานการณ์ที่ จ.ตาก
ปีนี้พบผู้ป่วยทั้งหมด 11,498 ราย เป็นไทย 5,556 ราย ที่เหลือเป็นต่างชาติ
จำนวนผู้ป่วยลดลงกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ร้อยละ 38
ทั้งคนไทยและต่างชาติ พบมากที่สุดที่ อ.ท่าสองยาง ซึ่งติดกับพม่า"
นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อว่า โรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค
ออกหากินตอนกลางคืน หากอยู่ป่าทึบ แสงสลัว ยุงจะกัดในตอนกลางวันได้เช่นกัน
ที่พบในไทยมี 4 สายพันธุ์ ที่พบมากที่สุด คือ ชนิดฟาลซิปารัม (Falciparum)
และไวแวกซ์ (Vivax) โดยยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรีย
จะกัดคนและปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด หลังจากนั้นประมาณ 10-14 วัน
จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อนหรือร้อนๆหนาวๆ มีเหงื่อออก
ชาวบ้านจะเรียกว่าไข้จับสั่น บางรายอาจมีไข้เป็นๆหายๆ สามวันดีสี่วันไข้
หากมีอาการที่กล่าวมา
ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้านหรือที่หน่วยมาลาเรีย
เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย
และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย
เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว
นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อว่า โรคนี้หากรักษาช้า อาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง
เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงแตกง่าย เหลืองซีด
ปัสสาวะสีดำ ไตวาย ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ตาม
ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน เป็นฤดูกาลระบาดของโรค
ปริมาณยุงก้นปล่องในป่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าช่วงฤดูแล้ง
จึงขอให้ประชาชนป้องกันตัว นอนในมุ้ง ทายากันยุง
มีไข้สูงหนาวสั่นรีบไปพบหมอ ป้องกันโรคไข้มาลาเรีย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
PG&P
สโนว์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI
คลิปตัวอย่าง PG&P
FEED PG&P