ที่ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 10 ก.ย. มีการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 9 โดย ผศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเลขาธิการสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรณีองค์การด้านสุขภาพและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโรงพยาบาลอาร์ คอน ประเทศเยอรมนี ได้ออกคำเตือนการบริโภคชาไข่มุกที่กำลังได้รับความนิยมในยุโรปรวมทั้ง เยอรมนีว่า นอกจากอาจทำให้เกิดการสำลักเม็ดไข่มุกแล้ว ยังตรวจพบการปนเปื้อนสารโพลีคลอริเนต ไบฟีนิล หรือ พีซีบี (PCBs) เป็นสารก่อมะเร็งเจือปน ว่า ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ เมื่อมีข่าวนี้ออกมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงไปดำเนินการตรวจวิเคราะห์ ทั้งนี้คิดว่าการตรวจพบในเยอรมนีน่าจะเกิดจากการปนเปื้อน หรือเจือปน เพราะสารพีซีบีเป็นสารทำความเย็นและใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ หากถูกปล่อยไปสู่สิ่งแวดล้อมจะอยู่ในพืชและไม่ย่อยสลาย เช่น อาจจะอยู่ในมันสำปะหลังที่นำมาผลิตแป้ง และน่าจะเป็นบางลอตเท่านั้น ไม่ควรตื่นตระหนก
"การป้องกัน คือ ดื่มให้น้อยลงหรือนาน ๆ ดื่มครั้ง เพราะชาไข่มุกหวานมาก ที่สำคัญในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ควรหลีกเลี่ยง เพราะไข่มุกทำจากแป้งมันสำปะหลังเหนียวมาก การดูดโดยใช้หลอดใหญ่ ๆ เด็กอายุ 4 ขวบ อาจสำลัก ติดคอ หรือ เข้าไปในระบบทางเดินหายใจ พ่อแม่ที่ซื้อให้ลูกดื่มต้องระวังโดยควรเฝ้าดูและให้เด็กนั่งอยู่กับที่ นอกจากนี้ในผู้สูงอายุก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกันเพราะมีปัญหาเรื่องการกลืนและ อาจสำลักเช่นกัน" ผศ.ดร.เรวดี กล่าว
ผศ.ดร.เรวดี กล่าวต่อว่า ชาไข่มุกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกกาแฟเย็น ซึ่งกาแฟเย็น ชาเย็นกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ เพราะวัยรุ่นบริโภคเยอะมาก จากประสบการณ์ที่ไปทำเรื่องการลดน้ำหนักมาหลายแห่งพบว่า คนที่น้ำหนักมากดื่มกาแฟเย็นวันละ 3 แก้ว นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายแล้วก็ยังทำให้น้ำหนักขึ้น เคยแนะนำให้ดื่มเหลือเพียงวันละ 1 แก้ว ปรากฏว่าน้ำหนักลดลง 5 กก.ใน 1 เดือน ประหยัดวันละ 50 บาท นี่เพียงแก้วละ 25 บาท ไม่ใช่กาแฟดังราคาแพง ดังนั้นอยากให้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายและภาวะน้ำหนักเกินด้วย ด้วยเหตุนี้กำลังจะสำรวจการบริโภคกาแฟว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักเกิน ของคนไทยหรือไม่
เมื่อถามถึงสีของเครื่องดื่มประเภทชาเย็น ชาเขียว หัวหน้าภาควิชาโภชนวิทยา กล่าวว่า เท่าที่ทราบชาจะผสมสมุนไพรที่เป็นสีจากธรรมชาติ แต่ถ้าสีเข้มมากอาจใช้สีผสมอาหาร ทั้งนี้ถ้าเป็นสีผสมอาหารดื่มมากก็ไม่ปลอดภัย เพราะเป็นสีสังเคราะห์ ใครที่รู้ตัวว่ากินวันละหลายแก้ว ควรหลีกเลี่ยง อยากให้รณรงค์ลดการดื่มลงเพราะทั้งหวานและมัน ควรจะหันมาดื่มน้ำเปล่าดีกว่า เนื่องจากบางคนดื่มแทนน้ำ ยิ่งในตอนนี้คนเป็นโรคเบาหวานกันมาก การดื่มตรงนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งก็ได้ โดยเฉพาะต่างจังหวัดขายถุงใหญ่มากบางคนดื่มเป็นกระติก คนขายขับเอากระติกมาส่งใน 1 วันดื่มมากกว่า 1 กระติก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนำภาพถ่ายชาเย็น และชาเขียวที่ขายอยู่ทั่วไปมาให้ ผศ.ดร.เรวดี ดู ได้รับคำตอบว่า ปกติสีจะไม่เข้มขนาดนี้ กรณีชาเขียวที่นำมาให้ดูสีเขียวผิดปกติ น่าจะใส่สี ส่วนชาเย็นก็เช่นกันปกติสีไม่ส้มสดขนาดนี้ ถ้าจับแล้วติดมือ โดนเสื้อผ้าแล้วซักไม่ออกน่าจะใส่สี สังเกตว่าเวลาไปกินอาหารญี่ปุ่นชาเขียวสีไม่ได้สดขนาดนี้ เป็นเขียวออกหม่น ๆ และสีส้มไม่น่าส้มสดขนาดนี้ ส่วนตัวคงไม่ดื่ม ดังนั้นกรณีนี้ควรระมัดระวัง เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง
ต่อข้อถามว่าถ้าตรวจแล้วสีเขียวหรือสีส้มเป็นสีผสมอาหารและใส่ในปริมาณ ที่กฎหมายกำหนดถือว่าปลอดภัยหรือไม่ ผศ.ดร.เรวดี กล่าวว่า คิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมาดูเรื่องนี้เพราะประชาชนดื่มกันเยอะมาก แม้จะเป็นสีผสมอาหาร ถ้าดื่มทุกวัน คงไม่เหมาะสมเพราะการดื่มหรือกินอะไรถี่ ๆ ทุกวัน 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้าเป็นผักผลไม้คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นอาหารไม่มีประโยชน์ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ถือว่าเยอะ ดังนั้นถ้างดไม่ได้ก็ควรดื่มให้น้อยลง
ขณะที่ รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผอ. สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการบรรยาย "บทบาทของไทยและประชาคมอาเซียนในการเชื่อมโยงอาหารสู่ความมั่นคงทาง โภชนาการ" ว่า การเปิดเสรีอาเซียนจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อรับมือต่อสถานการณ์ด้านอาหารจากความเปลี่ยนแปลงที่ เกิดขึ้น ทั้งในด้านประชากร จำนวนทรัพยากรอาหาร รวมไปถึงข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยในด้านประชากรพบว่าภาพรวมของอาเซียนที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงของกลุ่ม ประชากรอย่างเห็นได้ชัด อัตราการเกิดลดลง เช่นเดียวกับอัตราการตาย เนื่องจากประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น โดยสิงคโปร์มีอัตราการเกิดต่ำสุด ส่วนของประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลให้สัดส่วนกลุ่มคนวัยทำงานลดลง ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี มีสัดส่วนประชากรมากขึ้น และแนวโน้มนี้จะมีต่อเนื่องไปในอนาคต ซึ่งหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่ผลิตอาหารมีจำนวนลดลง คนรุ่นใหม่ต้องแบกรับภาระมากขึ้น
ขณะนี้ประเทศไทยและสิงคโปร์เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ประกอบกับข้อจำกัดด้านทรัพยากรอาหารที่เริ่มหมดลง ส่งผลให้ไทยต้องประสบกับวิกฤติอาหารในอนาคต จึงต้องจัดทำแผนต่าง ๆ เพื่อรับมือ ทั้งการหาแรงงานทดแทนที่อาจนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือการเปลี่ยนการลงทุนโดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น นอกจากนี้ข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากรทางอาหารถูกใช้ไปมากจนแทบไม่เหลือ ต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว กัมพูชา และพม่า ที่ยังคงมีอยู่จำนวนมาก ขณะที่ราคาอาหารและสินค้าแพงขึ้นทุกปี ดังนั้นจำเป็นที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ไว้ ซึ่งในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มองว่าในด้านการลงทุนจำเป็นที่ต้องหารือร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่ เป็นการทำลายทรัพยากรด้านอาหาร เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยมาแล้ว รวมไปถึงผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่เริ่มมีความรุนแรง และยาวนานมากขึ้น
รศ.ดร.วิสิฐ กล่าวว่า ในการเปิดเสรีอาเซียน เมื่อดูภาพรวมการส่งออกและนำเข้าสินค้า พบว่าในด้านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารยังมีความแตกต่างกัน จำเป็นที่ต้องจัดทำหลักเกณฑ์กลางที่เป็นของกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของประชากรในกลุ่มอาเซียนเอง แต่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ที่เห็นได้ชัดเจนคือกรณีของน้ำดื่ม ตามเกณฑ์การวัดขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศสิงคโปร์สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดตามมาตรฐานได้ 100% เช่นเดียวกับบรูไน ขณะที่ไทยอยู่ที่ 94% ส่วนกัมพูชาเข้าถึงเพียง 64% เท่านั้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
PG&P
สโนว์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม พีจีแอนด์พี pg&pthai พีจีแอนด์พีไทย pgpthai พีจีพี thaipgp เพรสซิเด็นท์ เกรน พรอดักท์ สกัดจากธัญพืช ธัญพืชสกัด
PGPTHAI คลิปตัวอย่าง PG&P FEED PG&P
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น