นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาผลของการฝึกทางกายผสมผสานการฝึกทางจิต หรือไอบีเอ็มที (integrative body-mind training-IBMT) ของนักศึกษามหาวิทยาลัย 2กลุ่ม
หลังผ่านไป 4สัปดาห์ ซึ่งใช้เวลารวม 11ชั่วโมง ผลการสแกนพบว่า สมองของอาสาสมัครเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ใยประสาท หรือ "สารสีขาว" ได้เกิดขึ้นอย่างหนาแน่น ทำให้สมองมีจุดเชื่อมต่อสัญญาณมากขึ้นขณะเดียวกันไขมันที่ห่อหุ้มปกป้องใย ประสาท หรือไมอีลิน ก็มีมากขึ้นด้วย
ผลดังกล่าวปรากฏให้เห็นที่ส่วนหน้าของสมองบริเวณคอร์เท็กซ์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม
หากระบบประสาทในส่วนนี้ทำงานบกพร่อง คนไข้ก็จะมีปัญหาทางจิต เช่น สมาธิสั้น, สมองเสื่อม,ซึมเศร้า และเป็นโรคจิตเภท
ผลวิจัยนี้ได้ต่อยอดจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ใช้เทคนิคสแกนสมองแบบเอ็มอาร์ไอวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของสมองที่ เกิดจากไอบีเอ็มที โดยนักวิจัยได้นำผลการศึกษา 2ชิ้นเมื่อปี2553มาวิเคราะห์ผลการสแกนดังกล่าวเพิ่มเติมอย่างลึกซึ้งยิ่ง ขึ้น
งานวิจัยชิ้นแรกได้ศึกษานักศึกษาอเมริกันที่มหาวิทยาลัยออริกอน ชิ้นที่ 2ศึกษานักศึกษา 68คนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีต้าเหลียนในประเทศจีน
นักวิจัยพบว่า ใยประสาทมีความหนาแน่นขึ้นหลังจากการฝึกไอบีเอ็มทีเป็นเวลา 2สัปดาห์ แต่ไม่พบความเปลี่ยนแปลงของการเกิดไมอีลิน อย่างไรก็ดีหลังผ่านไปหนึ่งเดือน พบว่าทั้งใยประสาทและไมอีลินได้มีปริมาณเพิ่มขึ้น
นักศึกษาที่ฝึกไอบีเอ็มทียังรายงานด้วยว่า ตนเองมีอารมณ์ดีขึ้น มีความโกรธ ความรู้สึกซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเหนื่อยล้าลดลงนอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนความเครียด คอร์ติโซล ลดลงด้วย
หัวหน้าทีมวิจัย ศาสตราจารย์ไมเคิล พอสเนอร์ จากมหาวิทยาลัยออริกอน บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสติปัญญา
ผลวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences
นักประสาทวิทยา ดร.เอเลนา แอนโตโนวา จากสถาบันจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน บอกว่า ข้อค้นพบนี้นับเป็นข่าวดี หากการฝึกสมาธิแค่ 11ชั่วโมงทำให้ใยประสาทเกิดการเชื่อมต่อกันอย่างหนาแน่นยิ่งขึ้นและมีการ ปกป้องดีขึ้น ดังนั้นการทำสมาธิซึ่งใครๆ ก็ทำได้ในเวลาใดก็ได้ จะช่วยให้จิตใจแจ่มใสและมีอารมณ์คงเส้นคงวา
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น