"โรคภูมิแพ้" เป็นภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยากับ "สารก่อภูมิแพ้" ที่พบบ่อยได้แก่ ไรฝุ่น ละอองเกสรหญ้า หรือพวกขนสัตว์ต่างๆ ฯลฯ เมื่อสารก่อภูมิแพ้สัมผัสกับเยื่อบุของร่างกายจะปล่อยสารสำคัญที่เรียกว่า "ฮีสตามีน" ออกมา ทำให้เกิดอาการระคายเคือง
โรคภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายระบบในร่างกาย ได้แก่
1.โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ จะมีอาการน้ำมูกไหล จาม คันจมูก คัดจมูก บางรายอาจมีอาการของไซนัสอักเสบร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการทางตา เช่น คันตา ตาแดง รอบตามีสีคล้ำ บางรายอาจมีอาการหูอื้อ หรือหูชั้นกลางอักเสบ
2.โรคหืดภูมิแพ้มักมีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เวลาเป็นหวัดจะไอนานกว่าปรกติ บางรายอาจใช้ยาขยายหลอดลมแล้วรู้สึกดีขึ้น
3.โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ส่วนมากจะมีผื่นคันในระยะแรกผื่นอาจมีน้ำเหลืองปกคลุมอยู่ ในระยะเรื้อรังผื่นจะแห้ง และผิวหนังจะหนาขึ้น เกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ในเด็กจะพบได้บ่อยกว่า ภูมิแพ้กับพันธุกรรม
โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าหากคุณพ่อคุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกทุกคนจะเป็นโรคภูมิแพ้ด้วย เด็กบางคนอาจเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ทางสิ่งแวดล้อม เช่น การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อในทางเดินหายใจในวัยเด็ก
ภูมิแพ้...รักษาได้
สิ่งที่สำคัญและจำเป็นคือเราควรรู้ก่อนว่าแพ้อะไร วิธีการที่จะรู้ได้คือทำการทดสอบภูมิแพ้ หรือ Skin Test โดยแพทย์จะหยดน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนังบริเวณแขนหรือแผ่นหลัง แล้วใช้เข็มสะกิดที่ผิวหนังบริเวณนั้น การทดสอบนี้ไม่เจ็บและทราบผลภายใน 15 นาที เมื่อเรารู้แล้วว่าแพ้อะไรจะทำให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ได้ดียิ่งขึ้น การรักษามีหลายวิธี ได้แก่
1.หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ เช่น ถ้าแพ้ขนสัตว์ก็ต้องไม่เลี้ยงสัตว์ดังกล่าวไว้ในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอน หรือถ้าตรวจพบว่าแพ้ไรฝุ่น ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่แพ้กันมากถึงร้อยละ 70 ก็ควรหลีกเลี่ยงการปูพรมในห้องนอน เครื่องนอนทุกชิ้นควรซักด้วยน้ำร้อนทุก 2 สัปดาห์ หรืออาจใช้ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนกันไรฝุ่น
2.รับประทานยาแก้แพ้ ใช้ในกรณีที่หลีกเลี่ยงหรือป้องกันสารที่ก่อภูมิแพ้แล้วแต่ยังมีอาการแพ้อีก การรับประทานยาแก้แพ้จำพวกยาต้านฮีสตามีนบางชนิดอาจทำให้มีผลข้างเคียงได้ เช่น อาการง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น
3.การใช้ยาพ่นจมูกสำหรับรักษาภูมิแพ้โดยเฉพาะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ชนิดปานกลางถึงรุนแรง ยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ซึ่งพบได้น้อยแต่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการระคายเคืองของเยื่อบุจมูก และเลือดกำเดาไหล ซึ่งถ้าผู้ป่วยพ่นยาอย่างถูกวิธีจะเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวน้อยมาก
4.การใช้ยาสูดเพื่อรักษาโรคหืดภูมิแพ้ ยาสูดเพื่อรักษาโรคหืดภูมิแพ้แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
4.1 ยาสูดเพื่อการรักษาและควบคุมโรคหืด เป็นยาที่ผู้ป่วยต้องสูดต่อเนื่องทุกวันด้วยเทคนิคที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรใช้ยาเฉพาะตอนมีอาการ หลังสูดเสร็จควรบ้วน ปากและกลั้วคอเพื่อชะล้างยาที่ตกค้างอยู่ในช่องปาก
4.2 ยาสูดเพื่อบรรเทาอาการ ผู้ป่วยควรพกพาติดตัวและนำมาใช้เฉพาะเวลามีอาการ หรือใช้ก่อนออกกำลังกายประมาณ 30นาที ไม่ควรใช้เป็นประจำ ในผู้ป่วยบางรายที่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ ดีพบว่ามีความต้องการ ที่จะใช้ยาชนิดนี้น้อยครั้งมาก
ที่มา :หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข โดย รศ.นพ.ต่อพงษ์ ทองงาม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น